นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้สั่งการให้หน่วยงานที่อนุมัติ หรืออนุญาต โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกิจการรุนแรงนอก 76 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด ให้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 วรรคสอง โดยยังไม่มีการสั่งระงับดำเนินกิจการใดทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน จะต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความประเด็นการสั่งระงับกิจการอีกครั้งหนึ่ง เพราะ หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง ยังไม่สามารถสั่งระงับกิจกรรมการดำเนินการที่เข้าข่ายรุนแรงประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน 11 ประเภทได้ ทั้งที่เป็น 76 กิจการ และกิจการที่อยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เนื่องจากแนวทางและอำนาจการสั่งระงับ ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากบางหน่วยงาน มีข้อบังคับชัดเจนว่า การสั่งระงับกิจการใดได้ต้องมีสาเหตุเพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจถูกภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างไปแล้ว จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
อาทิ กพร.มีพ.ร.บ.เหมืองแร่ได้มีข้อกำหนด ปัญหาต่างๆไว้ชัดเจน กรณีต้องการสั่งปิดกิจการ โครงการใดๆของภาคเอกชน จะต้องมีเหตุผลเพียงพอ ส่วน กรอ.ไม่มีกฎหมายในการพิจารรณาสั่งระงับกิจการได้ เป็นต้น
"คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องตีความประเด็นสั่งระงับกิจการอีกครั้ง โดยจะเทียบเคียงระเบียบปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานว่าต้องทำอย่างไร ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานอนุญาตทำหน้งสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการเพื่อเตือนว่า กิจการที่ทำอยู่ อาจเข้าข่ายกิจการรุนแรง และควรทำ EIA และ HIA ระหว่างรอกฤษฎีกาตีความ เพราะหากไม่มีหลักปฏิบัติ หน่วยงานอนุญาตสั่งปิดกิจการอาจถูกฟ้องร้องได้"นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า มีกิจการที่เข้าข่ายประเภทกิจการรุนแรง 15 โครงการ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 3 หน่วยงาน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ ตนจะลงพื้นที่มาบตาพุด เพื่อตรวจสอบบริษัทที่ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากการสุ่มตรวจพบว่า มี 2 บริษัท ในอุตสาหกรรมท่าเรือและอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ที่ไม่ทำตามระเบียบที่แจ้งไว้ตอนต้น เช่น ระบบการดูแลความปลอดภัย การบำบัดของเสียต่างๆ เป็นต้น