Xinhua's Interview: "ดร.สมภพ"เตือนสงครามค่าเงินอาจจุดชนวนวิกฤตการเงินรอบสอง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 26, 2010 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ซือ เสี้ยนเจิน ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหัวว่า สงครามค่าเงินที่กำลังส่อเค้าลางอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งความพยายามของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจบางประเทศที่เตรียมใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อลดยอดขาดดุลในประเทศของตนเองนั้น อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินรอบสอง

ดร.สมภพกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า การเผชิญหน้ากันในเรื่องสกุลเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะเดียวกัน ดร.สมภพกล่าวว่า หลายประเทศได้อัดฉีดเงินทุนเพิ่มขึ้นเข้าสู่ตลาดการเงิน ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบที่สอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆรู้สึกวิตกกังวลว่าการแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศของตนเองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

"หากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกทำในสิ่งเดียวกัน ผมก็คิดว่านี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะปัญหาฟองสบู่จะยิ่งส่งผลให้ภาวะไร้สมดุลทางการค้าทั่วโลกขยายวงกว้างออกไปอีก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินระลอกสองที่จะรุนแรงยิ่งกว่าช่วงเกิดวิกฤตในตลาดซับไพร์ม" ดร.สมภพกล่าว

QE หรือ Quantitative Easing เป็นมาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางนำมาใช้ผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มาตรการ QE หรือที่รู้จักกันดีว่าคือการ "พิมพ์เงิน" จะส่งผลให้สกุลเงินในประเทศนั้นๆอ่อนค่าลง และเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

ดร.สมภพกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐและญี่ปุ่นนั้น เห็นได้ชัดว่าการปรับขึ้นค่าเงินไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาภาวะขาดดุลการค้า

"เมื่อ 40 ปีที่แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนกับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 350 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 80 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ แต่สหรัฐก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นได้" ดร.สมภาพกล่าว

ทั้งนี้ ดร.สมภพกล่าวว่า การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยญี่ปุ่นนั้น จีนควรลดพึ่งพาการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ และหันมามุ่งเน้นตลาดภายในประเทศเพื่อเป็นทางออกให้กับภาคการผลิต ขณะเดียวกัน ดร.สมภพกล่าวว่า จีนควรกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ขยายภาคบริการ และไม่มุ่งเน้นภาคการผลิตมากเกินไป

"จีนควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการลงทุนมากขึ้นในตลาดโลก และด้วยการใช้ความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนเพื่อรั้งสถานะการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก" ดร.สมภพกล่าว

นอกจากนี้ ดร.สมภพยังแนะนำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียผนึกกำลังกันเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่เอเชียจำนวนมากและทำให้เกิดภาวะไร้สมดุลทางการค้า เพราะในขณะนี้เงินทุนส่วนเกินที่แพร่สะพัดอยู่ทั่วโลกกำลังหลั่งไหลเข้าสู่เอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ