(เพิ่มเติม) นายกฯ คาดน้ำท่วมเดือดร้อนกว่า 1 ล้านครัวเรือน ใช้งบฟื้นฟูกว่าหมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 26, 2010 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศในปีนี้น่าจะมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอาจจะมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน และคาดว่าจะต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประเมินความเสียหายในด้านเศรษฐกิจเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)พิจารณา

"ณ วันที่ 22 ตุลาฯ มีแล้วประมาณ 5.8 แสนครัวเรือน จากวันที่ 22 จนถึงวันนี้ยังมีอีกเยอะ อาจจะไต่ถึงล้านเลยก็ได้ ถ้ารวมการฟื้นฟูการลงทุนและทางด้านเกษตรกรรม ผมว่าต้องเป็นหมื่นล้านบาท"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่เงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่รัฐบาลได้อนุมัติหลักเกณฑ์ไปครอบครัวละ 5 พันบาท กรณีที่ได้รับความเสียหายในส่วนของทรัพย์สินหากเกิดน้ำท่วมขังต่อเนื่อง 7 วัน หรือเป็นการท่วมฉับพลัน ครัวเรือนใดไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็จะเข้าไปใช้หลักเกณฑ์ความช่วยเหลือเดิม โดยการจ่ายเงินยึดตามทะเบียนบ้าน ซึ่งจะไม่จ่ายผ่านองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น แต่คณะกรรมการชุดที่รับผิดชอบจะเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง คาดว่าเงินจะถึงมือประชาชนอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 เดือน

"ถ้าท้องถิ่นทำไม่ถูกต้องก็ต้องไปตรวจสอบให้เกิดความถูกต้อง"นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบคำถามถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

นอกจากนั้น ในการประชุมครม.เศรษฐกิจสัปดาห์หน้า จะมีการประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะไปทบทวนมาตรการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากเดิมกำหนดให้จ่ายเงินชดเชยไร่ละ 600 บาท นอกจากนั้นจะมีการมาตรการพักหนี้เกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน ซึ่ง ธ.ก.ส.ยังพร้อมให้สินเชื่อหากเกษตรกรต้องการ

ส่วนผู้ประกอบการ เช่น ธุรกิจการค้าที่ได้รับผลกระทบจะมีการประเมินเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

สำหรับกรณีที่มีคำสั่งให้มีการทบทวนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตประมูลข้าว แต่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบกับผลผลิตข้าวของประเทศ ประกอบกับหลายพื้นที่ได้พักการปลูกข้าวในช่วงภัยแล้ง และหลังจากนี้ก็จะสายเกินไปที่จะเริ่มปลูกข้าวใหม่ จึงอาจจำเป็นต้องระบายข้าวมาสู่ตลาดในประเทศ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังอยู่ในเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะปริมาณน้ำในขณะนี้ต่ำกว่าแนวป้องกันไม่มากนัก จึงยังไม่สามารถวางใจได้ ส่วนสถานการณ์น้ำที่ จ.อุบลราชธานี คาดว่าน้ำจากลำน้ำมูลและลำน้ำชีจะไหลไปถึงปากแม่น้ำโขงไม่พร้อมกัน แต่ก็จำเป็นต้องดูปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่จะหนุนเพิ่มขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ