นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 53 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ความคล่องตัวด้านการเงินเพื่อให้ส่วนราชการให้ความช่วยเหลือ 2.มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุ ที่ได้รับความเดือดร้อน และ 3.ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
1.มาตรการด้านความคล่องตัวด้านการเงินเพื่อให้ส่วนราชการให้ความช่วยเหลือนั้น จากเดิมที่แต่ละจังหวัดมีเงินทดรองราชการที่สามารถเบิกใช้ได้ทันทีวงเงิน 50 ล้านบาท หากไม่เพียงพออธิบดีกรมบัญชีกลางสามารถอนุมัติวงเงินให้ได้อีก 200 ล้านบาท (รวมเป็น 250 ล้านบาท) และปลัดกระทรวงการคลังมีอำนาจอนุมัติวงเงินเพิ่มขึ้นถึง 500 ล้านบาท แต่หากเกินกว่านี้ รมว.คลัง จะเป็นผู้อนุมัติ
ส่วนการการจัดซื้อพัสดุต่าง ๆ โดยใช้เงินทดรองราชการได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ โดยเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนหรือหลายคนทำการจัดซื้อและตรวจรับไปก่อนแล้วจึงรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายหลัง
2.มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับความเดือดร้อน ถ้าเป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย ให้พิจารณาความเสียหายของอาคารที่พักอาศัย หากอาคารที่พักอาศัยเสียหายบางส่วนให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี หากอาคารที่พักอาศัยเสียหายทั้งหลังให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี
แต่ถ้าเป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหายให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี โดยมีข้อมูลการรับรองความเสียหายจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และถ้าเป็นผู้เช่าอาคารราชพัสดุ หากผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ผู้เช่าอาคารราชพัสดุไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เป็นเวลาเกิน 3 วัน ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 เดือน
3.ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยทั้ง 8 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าของแต่ละสถาบัน ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.),ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.), ธนาคารกรุงไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าวจะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้, การปรับโครงสร้างหนี้, การพักชำระหนี้, การลดดอกเบี้ยเงินกู้, การให้สินเชื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการให้วงเงินเพื่อการฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น