กสิกรฯชี้น้ำท่วมเพิ่มปัจจัยลบศก.ไทยQ4 โตแค่ 1.1-1.6% ทั้งปีโตไม่ถึง 7%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในช่วงเดือนต.ค.53 จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงครอบคลุมพื้นที่เกือบ 30 จังหวัดนั้น เหมือนเป็นปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มากขึ้น จากทั้งปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ประเมินว่าความเสียหายในเบื้องต้นของเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ว่าอาจมีมูลค่าประมาณ 9,100-24,000 ล้านบาท แม้ความเสียหายอาจคิดเป็นเพียง 0.1-0.2% ของจีดีพีทั้งปี แต่นับว่ามีผลกระทบไม่น้อยต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2553 โดยความสูญเสียจากอุทกภัยอาจจะฉุดให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4/53 ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม 0.4-1.0% โดยอัตราการขยายตัวอาจลดลงมาอยู่ที่ 1.1-1.6% จากเดิมก่อนหน้าเหตุการณ์อุทกภัยคาดการณ์ไว้ที่ 2.0%

สำหรับผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี คาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีในปี 2553 ต่ำลงจากคาดการณ์เดิม 0.1-0.2% ลงมาอยู่ที่ 6.8-6.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 7.0%

"ไตรมาสสุดท้ายของปี 53 เศรษฐกิจไทยเริ่มเผชิญปัจจัยลบมากขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การส่งออกโดยเฉพาะในมูลค่าบาทชะลอตัวลงอย่างมาก ขณะที่ภาวะการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกที่อ่อนกำลังลง ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน อาจเป็นผลให้จีดีพีในไตรมาส 4/53 ขยายตัวในระดับต่ำ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นอกจากความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาน้ำท่วมยังอาจส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารสดพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. ทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4/53 อาจสูงขึ้นมาที่ 3.5-3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 53 อาจสูงขึ้นมาที่ 3.5-3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4%

ระดับราคาที่สูงขึ้นอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงทิศทางเงินเฟ้อในปี 2554 หากสถานการณ์ผลผลิตพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายส่งผลให้อุปทานทั้งในประเทศและต่างประเทศตึงตัวมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 ไว้ที่ 2.5-4.0% โดยปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ได้แก่ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก นโยบายรัฐต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและราคาพลังงาน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และล่าสุดคือปัญหาอุทกภัยที่จะดันฐานของราคาสินค้าในปีหน้าให้สูงขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม

ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ได้ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อนโยบายการเงิน ทำให้ทางการยังไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมนี้ อาจทำให้โจทย์ในการดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะระดับราคาสินค้าและอัตราค่าจ้างในปี 54 อาจปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 53 นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในภาวะที่ทางการไทยเผชิญกับโจทย์ด้านเงินเฟ้ออยู่นั้น เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวลงในปีหน้า ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะอ่อนตัวลงไปอีก ทำให้การตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของไทย อาจต้องเลือกให้น้ำหนักกับเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากลำพังอัตราดอกเบี้ยเพียงเครื่องมือเดียว คงจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งด้านการดูแลเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาเดียวกันทั้งหมดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ