รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะ มีกำหนดการเยือนกรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2553
คณะของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และ นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 14 รายการ โดยนอกจากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันเองแล้ว จะมีการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา 4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และในปีนี้จะมีการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ (Commemorative Summits) จัดขึ้นเพิ่มเติมอีก 4 รายการ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียนกับรัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหประชาชาติ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในกรอบอนุภูมิภาคอีก 2 กรอบ คือ เป็นประธานการประชุมสุดยอดในกรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 2
สำหรับประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะมีการหยิบยกขึ้นหารือระหว่างการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) เป็นประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้ให้วิสัยทัศน์เอาไว้ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยเน้นความเชื่อมโยงในด้านกายภาพ (เส้นทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ ทางอากาศ ICT และพลังงาน) ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบต่างๆ และความเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนต่อประชาชน
โครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค การพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐและรัสเซีย, การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอาจหารือเพื่อประสานนโยบายการเงินการคลังในระดับมหภาค
การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานสำหรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในทั้ง 3 เสาหลัก รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ การประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายทหารและพลเรือนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก้ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ