In Focusญี่ปุ่นเปิดเกมรุกยุคความสัมพันธ์แดนมังกรตกต่ำ จับมือเวียดนามและอินเดียพัฒนาแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุหายาก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 27, 2010 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ญี่ปุ่น"ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์และสินค้าไฮเทคถึงคราวต้องปรับยุทธศาสตร์ หลังความสัมพันธ์กับแดนมังกรตกต่ำ อันเนื่องมาจากเหตุระหองระแหงภายหลังเรือประมงจีนชนเข้ากับเรือตรวจการณ์ชายฝั่งของญี่ปุ่นในบริเวณหมู่เกาะเซนกากุ ในทะเลจีนตะวันออกซึ่งยังมีปัญหาเรื่องเขตแดนและกรรมสิทธิ์ในแหล่งน้ำมันและแก็สเมื่อเดือนก.ย.

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 ประเทศอยู่ในจุดที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าเปรียบเสมือนแผลก็เรียกได้ว่า เลือดตกยางออกกันเลยทีเดียว แม้ว่า ทั้ง 2 ประเทศพยายามที่จะเลี่ยงการออกมาประกาศใช้มาตรการตอบโต้กัน แต่ลึกๆลงไปนั้น ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายคงต้องใช้เวลานานกว่าที่จะสมานแผลได้

หากย้อนอดีตไปจะเห็นว่า ทั้ง 2 ประเทศนี้ต่างก็มีบาดแผลกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นมาเมื่อใด ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาณาเขตและผลประโยชน์ด้วยแล้ว เรื่องเล็กๆก็ดูเหมือนจะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ทันตาเห็น

แน่นอนว่า ผลพวงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบไปหลายด้าน ทั้งด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังไม่ส่งตัวลูกเรือและไต้ก๋งเรือชาวจีนกลับประเทศนั้น ทางการจีนก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวลูกเรือ ขณะที่ชาวจีนเองก็ออกมาประท้วงอยู่เป็นระยะ ส่วนชาวญี่ปุ่นที่ไปทำงานอยู่ในจีนก็ได้รับคำเตือนให้อยู่ห่างจากสถานที่ที่มีการประท้วง ทางด้านรัฐมนตรีของ 2 ประเทศเองก็ระงับการติดต่อประสานงาน และเลี่ยงการเข้าร่วมการประชุมที่มีรัฐมนตรีของอีกประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็คงจะเป็นเรื่องการค้า โดยเฉพาะการส่งออกแร่ธาตุหายากของจีน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่คุมตลาดสินแร่เหล็กในสัดส่วนถึง 95% ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตยานยนต์และสินค้าไฮเทคนั้น ต้องการแร่ธาตุหายากจำนวนมหาศาลเพื่อนำไปผลิตสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศ อย่างรถไฮบริด ดิสก์ไดรฟ์ แบตเตอรี่ แต่แหล่งทรัพยากรในประเทศก็ดูเหมือนจะสวนทางกับความต้องการ ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่ธาตุหายากจากจีนและประเทศอื่นๆ

ข่าวที่กระเซ็นกระสายออกมาตลอดตามสื่อต่างๆตั้งแต่เกิดเหตุมาจนถึงขณะนี้ก็คือ ข่าวการระงับการส่งออกแร่ธาตุหายากให้กับญี่ปุ่น ซึ่งทางจีนเองก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า จีนไม่ได้ระงับการส่งออกแร่ธาตุหายากแต่อย่างใด

กระทรวงพาณิชย์จีนถึงกับออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า จีนจะยังคงส่งออกแร่ธาตุหายากให้กับประเทศต่างๆต่อไป ขณะเดียวกันจีนจะยังคงใช้มาตรการที่เข้มงวดกับการใช้ประโยชน์ การผลิต และการส่งออกแร่ธาตุหายากอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกับออกโรงปกป้องมาตรการเหล่านี้ว่าไม่ได้ขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกแต่อย่างใดเสียด้วย

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลจีนจะกำหนดโควต้าการส่งออกปี 2554 โดยพิจารณาจากผลผลิตแร่ธาตุหายาก ความต้องการในตลาด และความจำเป็นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ญี่ปุ่นดิ้นผูกมิตรแดนภารตะ

เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจนถึงขณะนี้แล้ว การปรับยุทธศาสตร์ในการจัดหาทรัพยากรแร่ธาตุหายากในระยะยาวดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเดินหน้าการดำเนินการทางการทูตเพื่อหาทางปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนไปด้วยในคราวเดียวกัน

อากิฮิโร่ โอฮาตะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มองว่า การนำเข้าแร่ธาตุหายากที่หยุดชะงักไปนั้น เชื่อกันว่าเป็นเพราะการระงับการส่งออกของจีน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ตอกย้ำให้เห็นว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ในการจัดหาแร่ธาตุหายากในระยะยาว โดยนโยบายที่ญี่ปุ่นอาจจะมีการนำมาใช้ได้แก่ การเร่งการพัฒนาทรัพยากรและเทคโนโลยีทางเลือก เพื่อลดปริมาณการใช้แร่ธาตุประเภทต่างๆ และพัฒนาโรงงานรีไซเคิลแร่หายากที่สำคัญในประเทศ

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและนายมันโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียก็ได้ลงนามรับรองข้อตกลงการค้าเสรีของญี่ปุ่นและอินเดียอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ ผู้นำของ 2 ประเทศยังได้หารือเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์กับจีน และเห็นพ้องต้องกันว่า ทั้งญี่ปุ่นและอินเดียจะเร่งการเจรจาระดับทวิภาคีเกี่ยวกับความร่วมมือด้านข้อตกลงนิวเคลียร์ภาคพลเรือน

กลุ่มนักสังเกตการณ์มองว่า การกระชับความสัมพันธ์กับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีประชากรถึง 1.2 พันล้านคน อาจจะช่วยคานอำนาจกับจีนได้ อีกทั้งยังจะเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งแร่ธาตุหายากร่วมกัน

ญี่ปุ่นและอินเดียได้ออกแถลงการณ์ร่วมในช่วงที่นายกฯอินเดียได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 วันว่า นายกฯของ 2 ประเทศเห็นชอบเรื่องการร่วมมือในการพัฒนา การรีไซเคิล และการนำแร่ธาตุหายากกลับมาใช้งานอีกร่วมกัน

ทางด้านอินเดียเองก็ต้องการความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นเช่นกัน โดยนายกฯอินเดียนั้นแจ้งว่า อินเดียต้องการเงินลงทุนในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นในเรื่องโครงการดังกล่าว

นายกฯอินเดียมองว่า เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นนั้นน่าสนใจ และอินเดียก็ให้ความสำคัญในการกระชับความเชื่อมั่นระดับทวิภาคีในด้านเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยเช่นกัน

งานนี้เรียกได้ว่า ญี่ปุ่นยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ได้ทั้งเรื่องการคานอำนาจและการปูทางสู่การพัฒนาแหล่งแร่ธาตุหายากร่วมกัน

ญี่ปุ่นย้ำเวียดนามคือประเทศที่ต้องการทำข้อตกลงด้วย

นอกจากอินเดียแล้ว ญี่ปุ่นยังได้เข้าหาเวียดนาม โดยญี่ปุ่นและเวียดนามอาจจะลงนามข้อตกลงในการพัฒนาแร่ธาตุหายากร่วมกันในช่วงสิ้นเดือนต.ค.ที่กรุงฮานอย ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังของญี่ปุ่น และนายเหงียน ตัน ดุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามเข้าร่วมเจรจาระดับทวิภาคีภายหลังการประชุมกลุ่มสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนในสัปดาห์นี้

อากิฮิโร่ โอฮาตะ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของญี่ปุ่นกล่าวในการแถลงข่าวว่า เวียดนามคือประเทศที่เราต้องการทำข้อตกลงด้วย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมกันพัฒนาแร่ธาตุหายากกับเวียดนาม"

ญี่ปุ่นอาจยื่นข้อตกลงด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนของเวียดนาม พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีการขุดเจาะและสำรวจทรัพยากรให้แก่เวียดนาม ในขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามก็ถูกมองว่าเป็นแหล่งแร่ธาตุหายาก ที่จำเป็นสำหรับการผลิตรถไฮบริด จอภาพแอลซีดี และสินค้าไฮเทคทั้งหลาย

ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและเวียดนามอาจส่งผลดีต่อเวียดนามในแง่ของการยับยั้งความเคลื่อนไหวของจีนเกี่ยวกับการครอบครองดินแดนที่จีนอ้างสิทธิ์เป็นของตน ซึ่งรวมถึงกรณีพิพาทเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ ที่เวียดนามมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ถึงอาหรับจะมีน้ำมัน แต่จีนก็ไม่น้อยหน้าในเรื่องแหล่งแร่ธาตุหายาก
คำกล่าวของประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ของจีนที่เคยกล่าวไว้ว่า อาหรับมีแหล่งน้ำมัน แต่จีนมีแร่ธาตุหายากนั้น ยังทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน ในยุคที่รถไฮบริดที่สามารถใช้ได้ทั้งพลังงานจากน้ำมันและแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้ รวมทั้งพลังงานทางเลือกที่กำลังจะแจ้งเกิดแทนที่พลังงานจากน้ำมันนั้น วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตรถไฮบริด แบตเตอรี่ แม่เหล็กที่ใช้ในคอมพิวเตอร์นั้น ล้วนมาจากแร่หายาก การที่จีนเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรแร่หายากทำให้หลายฝ่ายมุ่งหน้ามายังแดนมังกร แร่หายากที่ได้มีการนำมาใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทค เช่น มือถือ กล้องดิจิตอล โทรทัศน์จอแบน และรถไฮบริดนั้น ประกอบด้วย องค์ประกอบแร่ 17 ชนิด เช่น นีโอไดเมียม ไดโปรเซียม และซีเรียม

การสกัดแร่ธาตุหายากนั้น จะต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าการสกัดแร่ประเภทอื่นๆ เนื่องจากในก้อนหิน 1 ก้อนนั้น อาจจะมีแร่ธาตุปะปนกันอยู่หลายชนิด ดังนั้น กว่าที่แร่แต่ละชนิดจะถูกสกัดออกมาได้ก็ต้องใช้คววามพยายามอย่างยิ่งยวด

แหล่งแร่หายากนั้น สำรวจพบทั้งที่แคลิฟอร์เนีย แคนาดา แอฟริกาใต้ บราซิล เวียดนาม และออสเตรเลีย แต่แหล่งแร่หายากขนาดใหญ่นั้นอยู่ที่เมืองเป่าโตในมองโกเลียใน และมณฑลเสฉวนของจีน ซึ่งมีรายงานว่า จีนสำรวจพบแหล่งแร่หายากจำนวนมาก

ข้อมูลสถิติของสมาคมสินแร่หายากจีนระบุว่า จีนผลิตสินแร่หายากได้ 124,800 ตันในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วน 95% ของดีมานด์ทั่วโลก ขณะที่ผลผลิตของรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอินเดีย อยู่ที่ 2,470 ตัน, 1,700 ตัน และ 50 ตัน ตามลำดับ

สำหรับแหล่งแร่ธาตุหายากที่มีอนาคตขนาดใหญ่นอกประเทศจีนนั้น มีที่แคลิฟอร์เนีย แคนาดา และออสเตรเลีย แต่เนื่องจากแคลิฟอร์เนียได้หยุดทำเหมืองแร่ธาตุหายากไปตั้งแต่ปี 2541 ทางออสเตรเลียเองก็ตั้งเป้าผลิตแร่ธาตุหายากในปี 2554 เช่นเดียวกับแคนาดา ส่งผลให้การผลิตแร่ธาตุหายากต่อปีของ 3 แหล่งนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตแร่ธาตุหายากของจีน เรียกได้ว่า กว่าจะก้าวทันจีนในแง่การผลิตแร่ธาตุหายากนั้น ก็ต้องสปีดกันสุดตัว

ยิ่งจีนได้ประกาศแผนการพัฒนาระยะ 5 ปี (2553-2558) ซึ่งระบุว่า จีนจะลดการส่งออกแร่ธาตุหายาก รวมทั้งการพิจารณาเรื่องการยกเลิกการส่งออกแร่ธาตุหายากบางส่วนด้วย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ คงจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ประเทศฝั่งตะวันตกหันมาทำการผลิตสินค้าในแดนมังกร นอกจากนี้ จีนเองก็ต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานลมของประเทศ ซึ่งจีนหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมให้ได้สูงกว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าของอังกฤษทั้งประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมดังกล่าวก็ต้องใช้แร่หายากในปริมาณเทียบเท่ากับการใช้งานตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

บทเรียนจากจีน

ในขณะที่ โตโยต้า ซึ่งใช้แร่หายากในการผลิตรถพรีอุส ไฮบริด กำลังพิจารณาเรื่องการทำเหมืองในเวียดนามนั้น สหรัฐเองก็กังวลเรื่องอุปทานสินแร่เหล็กที่ใช้ในการทหาร ส่วนรัฐบาลอังกฤษก็ได้ตรวจสอบดูว่า จะมีความเสี่ยงใดๆเกิดขึ้นจากแผนการผลิตรถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นหรือไม่

ในช่วงเวลาที่นานาประเทศหันมาพัฒนาเทคโนโลยี พลังงานทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น ดูเหมือนว่า การปูทางสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อโลกสีเขียวนั้น ก็จะเป็นการทำร้ายโลกไปในคราวเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การค้นหาแหล่งแร่หายากจึงได้รับการวางแผนและกระจายตัวกันไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในแคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย แคนาดา หรือแม้แต่กรีนแลนด์

แต่การค้นหาแหล่งแร่หายากเหล่านี้ก็ต้องชะลอตัวออกไปเพราะประเด็นที่สร้างความกังวลในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้สามารถดูได้จากประสบการณ์ในจีน ที่เหมืองแร่หายากขนาดใหญ่ที่เมืองเป่าโตในมองโกเลียในนั้น การสกัดแร่ต่างๆส่งผลให้มลพิษรั่วไหลลงในแหล่งน้ำตามมาส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

การที่จีนมีแผนการควบคุมการส่งออกและบริหารจัดการแร่ธาตุหายากนั้น จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทรัพยากรเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีความต้องการสูง การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และก็ยังไม่สายที่หลายประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรอยู่กับตัวจะดูบทเรียนจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นในจีนเป็นตัวอย่าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ