นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจของไทยจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก, อัตราแลกเปลี่ยน, ภัยธรรมชาติ และปัจจัยทางการเมือง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าจีดีพีในปี 54 ยังคงเติบโตต่อไปได้ แม้จะปรับลดลงบ้างเมื่อเทียบกับจีดีพีในปีนี้
"ปัจจัยความเสี่ยงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ภัยธรรมชาติ ปัจจัยการเมือง แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลจะต้องมีความพร้อมในการติดต่อสื่อสาร ชี้แจงกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า แม้จะปรับตัวลงมาเล็กน้อยก็ยังจะเดินหน้าไปได้" กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย กับการรับมือของรัฐบาล"
โดยปัจจัยเสี่ยงแรก เรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ยังต้องติดตามเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งในภาพรวมแล้วการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่ามีความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินไปอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำให้เกิดปัญหาด้านการเงินการคลังได้
ปัจจัยเสี่ยงที่สอง เรื่องการไหลเข้า-ออกของเงินทุน และปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่าปัญหาหลักอยู่ที่ค่าเงินดอลลาร์ โดยเชื่อว่าตราบใดที่สหรัฐฯ ยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็จะยังมีเงินทุนอีกจำนวนมากที่จะไหลเข้ามาในเอเชีย ซึ่งจากการหารือกับนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ(UN)วานนี้ คาดว่าการประชุม G20 ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ น่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์และสร้างความเข้าใจกับผู้นำประเทศหลักๆ ได้ ขณะที่ในส่วนของไทยต้องเตรียมการบริหารจัดการเพื่อรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่สาม เรื่องภัยธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร และส่งผลต่อการค้าขายภายในประเทศ ซึ่งการค้าภายในประเทศยังผูกติดกับรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจำเป็นให้รัฐบาลต้องปรับตัวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องจนถึงสถานการณ์น้ำท่วม มีช่วงเวลาที่ห่างกันไม่มากนัก และถือว่าเป็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญ
ปัจจัยเสี่ยงที่สี่ เรื่องการเมืองในประเทศ ยอมรับว่ายังมีความพยายามของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการเห็นความสงบสุขของประเทศ แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าภายในปีหน้าจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่คิดว่ารัฐบาลจะบริหารงานจนครบเทอม
"ผมพูดชัดเจนว่า ผมอยากแพ้การเลือกตั้งถ้าทำให้บ้านเมืองสงบสุข ดีกว่าชนะการเลือกตั้งที่นำไปสู่ความรุนแรง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด และระบบ 3G นั้น ยังเป็นปัญหาที่ผูกติดกับด้านการเมือง เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในจุดนี้จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป และจากภาพรวมทั้งหมดนี้รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ ซึ่งขณะนี้เครื่องมือที่จะใช้รับมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการบริหารงานด้านการคลัง หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เองนั้น ถือว่ายังสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี รวมถึงรัฐบาลได้เน้นที่จะเรียนรู้การใช้มาตรการหรือเลือกใช้นโยบายในการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งคิดหานโยบายใหม่ๆ ที่จะออกมารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายสิ่งที่จะดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ 2.การเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับประชาชนผ่านระบบสวัสดิการ และ 3.การสร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ งานที่รัฐบาลจะเร่งรัดในช่วงเดือนหน้า คือ การทบทวนโครงสร้างต้นทุนราคาสินค้าไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งต้นทุนพลังงาน หรือต้นทุนการเกษตร ที่นำไปสู่ปัญหาสินค้าราคาแพง รวมทั้งปัญหาแรงงานนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการบริหารจัดการ