ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะรัฐ-เกษตรกรชาวไร่อ้อยเตรียมรับมือแรงกดดันจากบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทอาจยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.00 และ 28.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2553 และสิ้นปี 2554 ตามลำดับ ซึ่งหากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามนี้ ก็คาดว่าจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นปี 2553/54 เป็นอย่างมาก โดยค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของราคาอ้อยประมาณ 23 บาทต่อตัน ซึ่งในปีการผลิต 2552/53 นั้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นไว้ที่ระดับ 965 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.โดยพิจารณาจากสมมติฐานค่าเงินบาทที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในปีการผลิต 2553/54 นั้นเงินบาทมีการเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินกันว่า ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาอ้อยขั้นต้นจะอยู่ที่ 977 บาทต่อตัน แต่หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 954 บาทต่อตัน และหากเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ ระยะเวลาการเปิดหีบอ้อยจะเริ่มต้นในเดือนธันวาคมนี้แล้ว ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งตัดสินใจเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า โดยราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับควรเป็นระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2553/54 อาจจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2552/53 อันเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ก็คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่สูงในรอบ 29 ปีนับตั้งแต่ปีการผลิต 2525/26 เป็นต้นมา โดยระดับราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ต่ำกว่าปีการผลิต 2552/53 เพียงปีเดียวเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า การผลิตอ้อยปีการผลิต 2553/54 นั้น เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง อาทิ ราคาปุ๋ยเคมี พลังงานในภาคการเพาะปลูก การตัดอ้อย และการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ต้นทุนด้านแรงงาน รวมไปถึงต้องเผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาดในหลายพื้นที่ ประการสำคัญก็คือ ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี นอกจากนี้ยังประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนในหลายพื้นที่

ปัจจัยต่างๆดังกล่าว ได้ทำลายพืชผลให้เสียหายไปเป็นจำนวนพอสมควร ทำให้คาดว่า ผลผลิตอ้อยในปี 2553/54 จะมีประมาณ 65.7 ล้านตัน ต่ำกว่าผลผลิตอ้อยปีการผลิต 2552/53 ซึ่งอยู่ที่ 68.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นผลผลิตอ้อยที่ลดลงประมาณ 2.8 ล้านตัน ซึ่งหากคิดราคาอ้อยที่ประมาณ 900-1,000 บาทต่อตัน ชาวไร่อ้อยทั้งระบบจะสูญเสียรายได้จากปริมาณอ้อยที่หายไปคิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 2,520-2,800 ล้านบาท และหากต้องมาสูญเสียรายได้จากการแข็งค่าของเงินบาทอีก ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น ภาครัฐจึงมีภาระหน้าที่ในการดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้มีรายได้ที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรยังคงปลูกอ้อย เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานน้ำตาลต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบไว้ในระยะยาว

สำหรับวิธีการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า ที่มีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น มีทั้งมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น ได้แก่ การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน, การอุดหนุนจากภาครัฐ และกำหนดเวลาเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลให้เหมาะสม

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาว ได้แก่ มาตรการภาครัฐ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลจัดการเกี่ยวกับราคา ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งพลังงาน โดยควรมีการปรับลดลงให้สอดคล้องกับต้นทุนนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ, มาตรการภาคเกษตรกร เกษตรกรชาวไร่อ้อยควรหันมาเพิ่มศักยภาพการเพาะปลูก โดยเฉพาะการคัดเลือกพันธ์อ้อย รวมทั้งการบำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รวมทั้งค่าความหวานของอ้อยให้สูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มาตรการต่างๆ ควรอยู่ในระดับที่ไม่เป็นการฝืนต่อกลไกตลาดมากเกินไป รวมทั้งวงเงินที่จะนำมาใช้พยุงราคาอ้อย ต้องไม่สร้างภาระต่อภาครัฐ โดยเฉพาะฐานะของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยังคงมีภาระในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและสร้างเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต ประการสำคัญ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลราคาจำหน่ายปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ ที่ลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือทางด้านต้นทุนรายจ่ายของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้พอสมควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ