(เพิ่มเติม) "หม่อมอุ๋ย"คาดดอลลาร์แข็งค่าอีก 1 ปีครึ่ง,แนะเก็บภาษีเงินต้นในพันธบัตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมทั้งอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าไปอีกอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี พร้อมทั้งแนะนำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกที่ปรับตัวไม่ทัน โดยรัฐบาลควรจะใช้มาตรการเก็บภาษีเงินต้นของการลงทุนในพันธบัตร เพื่อแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า จากที่ผ่านมามีเพียงการเก็บภาษีจากกำไรและดอกเบี้ยจากการลงทุนในพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ มองว่าเริ่มเห็นสัญญาณภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่รุนแรง

"ช่วงพ.ค.-มิ.ย. มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยมากที่สุด สูงเท่ากับปี 51 ทั้งปี ซึ่งรัฐบาลต้องใส่ใจกับปัญหาดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันมองว่า จากการที่สหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ จะทำให้ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง มองว่าดอลลาร์ยังจะคงอ่อนค่าต่อไปอีกอย่างน้อยถึง 1 ปีครึ่ง"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวในการสัมมนา"ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของจีดีพีปี 54"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การที่สหรัฐฯจะมีการใช้นโยบายลดดอกเบี้ยและมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชีย รวมถึงในไทยมากขึ้น ขณะที่ไทยใช้นโยบายตรึงดอกเบี้ยทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศกว้างขึ้น ก็เป็นการช่วยชะลอให้เงินหยุดไหลเข้าได้ในระยะหนึ่ง แต่มองว่าการที่จะใช้นโยบายให้เงินบาทหยุดแข็งค่าคงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น มาตรการที่จะทำคือควรจะชะลอเรื่องเงินทุนไหลเข้า เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกได้มีการปรับตัว ไม่ควรรอจนผู้ส่งออกไม่สามารถปรับตัวได้ และในที่สุดจะไม่มีผู้ส่งออกอยู่ในประเทศ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า ผู้ส่งออกมีส่วนสำคัญในการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีความเข้าใจความรุนแรงของปัญหา ขณะเดียวกันแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการต่อสู้ค่าเงินแล้ว แต่คงไม่สามารถทำได้ตลอด มองว่าเงินทุนไหลเข้ามาจากหลายทางทั้งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้

"เงินทุนไหลเข้าที่เข้ามาลงทุนตลาดตราสารหนี้มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงเห็นว่ารัฐบาลควรจะใช้วิธีการชะลอเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยใช้วิธีการเก็บภาษีจากเงินต้นที่เข้ามาลงทุนพันธบัตร ซึ่งหลายประเทศได้ทำไปแล้ว เช่น บราซิลได้ทำไปแล้วถึง 2 รอบ ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ชะลอเงินทุนไหลเข้า และมีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีการใช้ Capital control ถือเป็นเรื่องที่ถุกหลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ"อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศจำนวนมาก ทำให้มีสภาพคล่องมากเกินไปจะกลายเป็นปัญหา ซี่งขณะนี้ในส่วนของไทยเริ่มส่งสัญญาณในเรื่องของราคาทรัพย์สินที่เป็นฟองสบู่แล้ว เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้ามามาก ทั้งในด้านตลาดหุ้นเห็นได้ว่าดัชนีหุ้นเมื่อเดือนพ.ค.อยู่ที่ 760 จุด แต่ตอนนี้เกือบ 1,000 จุด เพิ่มขึ้นถึง 30% ในเวลา 4 เดือน

ขณะเดียวกันในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มเห็นการเกิดฟองสบู่แล้วเช่นกัน มองว่าตราบใดที่ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นฟองสบู่แตกและกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข

“วันนี้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าหากปล่อยเป็นปัญหาหนัก ซึ่งยังไม่รู้จะเกิดในปีนี้ปีหน้าจะแก้ไขได้ยาก ขณะที่เงินทุนที่ไหลเข้ามา หากให้ธปท.ต่อสู้ คงสู้ได้ไม่ไหวมากนัก ดังนั้นการที่รัฐบาลจะออกมาแก้ปัญหาชะลอ ควรจะเข้าไปดูตลาดบอนด์ ซึ่งมีเงินไหลเข้ามาลงทุนมาก ขณะที่ตลาดหุ้น ควรปล่อยให้ ธปท.เข้าไปดูแลต่อสู้ค่าเงินในส่วนนี้แทน เพราะมีจำนวนไม่มาก"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ทั้ง 2 วิธีการ จะทำให้ชะลอเงินทุนไหลเข้าและจะเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกได้ปรับตัว ซึ่งปัญหาฟองสบู่ ควรต้องเร่งเข้ามาแก้ไข หากปล่อยไปอีก 6 เดือนอาจเกิดปัญหามาก ในช่วง 6 เดือนควรให้ผู้ส่งออกมีเวลาปรับตัวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ