นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของจีดีพีปี 54"ว่า ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจไทยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เหมือนเดิม แต่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังจะดำเนินต่อไปอีกระยะและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และมองว่าเอเซียจะกลายเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกแทนตะวันตก ดังนั้น เมื่อโลกเกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์แล้ว จึงต้องมีการปรับตัวในเชิงนโยบาย
เงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้เงินบาทแข็งค่าจากเดิมมาก จึงเป็นปัจจัยที่ต้องดูแลให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง มีความสามารถการแข่งขัน ขณะเดียวกันการดูแลค่าเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่จะดำเนินการเป็นครั้งคราวเพื่อลดความผันผวน ขณะที่การดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ให้เร่งให้เงินบาทแข็งค่า ต้องพิจารณาให้เหมาะสมระหว่างความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เมื่อเทียบผลกระทบต่อกลุ่มรายได้ของภาคเกษตรกร เอสเอ็มอีก
"การต่อสู้ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เป็นเรื่องยากที่จะประสบผลสำเร็จ และมีต้นทุนมาก แต่การดูแลค่าเงินควรจะทำเป็นครั้งคราวเพื่อลดความผันผวน ขณะเดียวกันต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเงินเฟ้อกับบาทแข็งค่า ผ่านนโยบายดอกเบี้ย เพราะหากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงว่าจะสูงขึ้นจากกรอบเล็กน้อย เช่น 3% เป็น 3.5% เรารับได้หรือไม่ ขณะที่บาทแข็งค่า จาก 33 บาท เป็น 30 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่า 10% ซึ่งรายได้เกษตรกรหายไป 10-15% ต้องให้น้ำหนักอันไหนก่อน หลัง ดูจังหวะเวลา" นายศุภรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการที่ ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงินบาทจนส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศปรับสูงขึ้น จากช่วงต้นปี 53 อยู่ที่ 135,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 169,000 ล้านดอลลาร์ ณ 15 ต.ค.53 หรือคิดเฉลี่ยทั้งปีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 150,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 33 บาท/ดอลลาร์ เป็น 30 บาท/ดอลลาร์ แสดงว่า ธปท.มีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว 450,000 ล้านบาท แม้เงินสำรองระหว่างประเทศจะไม่ได้มีเงินตราต่างประเทศเป็นดอลลาร์สกุลเดียวก็ตาม สะท้อนว่าการเข้าดูแลเงินบาทมีต้นทุนมหาศาล ดังนั้น ธปท.จึงควรจะบริหารเงินให้มีต้นทุนที่ต่ำ
นายศุภรัตน์ เสนอให้รัฐบาลมีการปรับตัวในเชิงนโยบาย โดยเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบชลประทาน ภาคเกษตร โลจิสติกส์ ส่วนภาคเอกชนให้เร่งลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยที่ ธปท.ที่มีเงินสำรองระหว่างเป็นจำนวนมาก ควรนำมาหาผลประโยชน์ โดยปล่อยกู้ให้รัฐบาล หรือภาคเอกชน นำไปลงทุนในโครงการต่างๆ โดยคิดดอกเบี้ยเท่ากับผลตอบแทนที่ ธปท.ได้รับ หรือสูงกว่าเล็กน้อย โดยเรื่องนี้มีกฎหมายเปิดกว้างรองรับ แต่ ธปท.และกระทรวงการคลัง ควรหารือกันให้เข้าใจก่อน
"ธปท.ควรสร้างกลไกคล่องในในการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่นการออกกฎหมายโอนเงินสำรองฯบางส่วนเพื่อจัดตั้งกองทุน เช่นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งน่าจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าระบบปกติ และเห็นว่าบางประเทศก็ใช้เป็นกลไกบริหารประเทศ หรือ หากไม่อยากออกกฎหมาย ก็ให้รัฐบาลกุ้เงิน ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และให้รัฐบาลบริหารจัดการเงิน หรือหากอยากให้ออกกฎหมาย โดยธปท.บริหารจัดการเงินเอง ก็เป็นอีกแนวทาง"นายศุภรัตน์ กล่าว
ขณะที่รัฐบาลควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชนในการหักค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง และให้หักค่าเสื่อมราคาพิเศษเพิ่มอีก 25%ของเงินลงทุน เพื่อจูงใจให้เอกชนมาลงทุนมากขึ้นในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไม่มาก แต่จะได้รายได้ภาษีด้านอื่นมาทดแทน
พร้อมทั้ง ปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ บีโอไอ โดยเน้นให้สิทธิประโยชน์เฉพาะอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องการพัฒนาประเทศ การสนับสนุนให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยรัฐบาลดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน อำนวยความสะดวกด้านการต่างประเทศ
นอกจากนี้ ควรใช้วิกฤติขณะนี้เป็นโอกาสในการปรับหลักการจัดเก็บภาษี โดยเปลี่ยนจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ ตามหลัก Resident Principle ที่บุคคล นิติบุคคลที่มีถิ่นอยู่ในประเทศต้องเสียภาษีให้ประเทศไทยทั้งจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศ มาเป็นหลักการเก็บภาษีจาก Territorial Principle ที่บุคคล นิติบุคคล ไม่ว่ามีถิ่นอยู่ในประเทศหรือไม่ ต้องเสียภาษีเงินได้ให้ประเทศไทยเฉพาะเงินที่ได้จากแหล่งในประเทศเท่านั้น ซึ่งหลักการเก็บภาษีดังกล่าวใช้ในประเทศฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะเดียวกันให้ปรับกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลระหว่างบริษัทได้รับในไทยให้สอดคล้องกันด้วย
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เงินทุนไหลเข้าประเทศขณะนี้แม้จะมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่มองว่าช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และช่วยการพัฒนาตลาดทุน ดังนั้น ควรจะมีการแยกให้ชัดเจนระหว่างเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนจริง กับเงินทุนที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไร
ทั้งนี้ จะพบว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาพักเงิน เห็นได้จากการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตรที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ดังนั้น การออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า ไม่ควรจะกระทบต่อเงินที่เข้ามาลงทุนระยะยาวที่มาลงทุนในพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี
ส่วนการที่มองว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ P/E Ratio ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้นอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่หลังจากที่มีกระแสเงินทุนเข้ามา ทำให้ P/E ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นไปอยู่ 14 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยในเอเซีย ดังนั้น ขณะนี้แม้จะมองว่าระดับราคาหุ้นจะแพงเกินไป ก็ยังไม่น่ากลัว แต่ช่วงต่อไปต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะมีผลต่อราคาหุ้น
"Hot money จะเข้าไปที่ตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง ในขณะที่ตลาดหุ้นไทย สภาพคล่องยังมีไม่พอ ทำให้ Hot money ไม่เข้ามา ส่วนพวก Hedge fund ได้ล้มหายตายจากไปตั้งแต่ปี 2008 แล้ว"นายไพบูลย์ กล่าว