(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 53 โต 7.3-8.0% จาก 6.5-7.5%,ปี 54 โต 3-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 28, 2010 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.แถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือน ต.ค.53 โดยได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้เป็น 7.3-8.0% สูงขึ้นจากเดิมคาดที่ไว้ในระดับ 6.5-7.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายดีกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเติบโตสูงกว่าคาด ทำให้ส่งออกของไทยเติบโตได้ดีไปด้วย แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวและขยายตัวช้ากว่าครึ่งปีแรก

ส่วนในปี 54 คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.0-5.0% ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยมองว่าการส่งออกของไทยยังน่าจะเติบโตได้ดี แม้ว่าเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังน่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาของ ธปท.พบว่าอัตราการขยายตัวของประเทศคู่ค้ามีความสำคัญมากกว่าระดับอัตราแลกเปลี่ยน

"จีดีพีในช่วงครึ่งปีแรกโต 10.6% สูงกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ประมาณการทั้งปีจึงสูงขึ้น การส่งออกยังสามารถเดินหน้าได้ แม้เงินบาทยังแข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวดี แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งขณะนี้เหลือแค่ 2 เดือน ต่อเนื่องถึงปีหน้าก็จะขยายตัวลดลง แต่การลงทุนในประเทศยังดี บวกกับการบริโภคในประเทศก็ดีขึ้นด้วย ทำให้แบงก์ชาติยังประมาณการจีดีพีปี 54 ที่ 3-5% ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แม้จะมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลก และมีความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย"

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 53 จะชะลอตัวและขยายตัวช้ากวาครึ่งปีแรก โดย GDP ไตรมาส 3/53 จะเริ่มแผ่วบางลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงตาม แต่การใช้จ่ายภายในประเทศและการลงทุนเข้าสู่วัฎจักรขาขึ้น และเชื่อว่าจะมีการลงทุนต่อเนื่อง จึงมาชดเชยการส่งออกที่ชะลอลงได้

"เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับปกติ "นายไพบูลย์ กล่าว

ธปท.มองว่า GDP ของไทยในปี 54 น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามทิศทางเดียวกับประเทศคู่ค้า 20 ประเทศที่คาดว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวดีเฉลี่ย 11-14% ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวดีในปีหน้า แม้จะต้องยอมรับว่าครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 4/53 จะขยายตัวต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

นายไพบูลย์ กล่าวถึงการแข็งค่าของเงินบาทว่า ขณะนี้มีผลกระทบกับการส่งออก โดยเฉพาะในด้านรายได้ เมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินบาท แต่เมื่อดูตัวเลขจากอดีตและผลการศึกษาของ ธปท.พบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีผลต่อการส่งออกของไทยมากกว่าค่าเงิน ดังนั้น เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะยังเติบโตไปได้ดี

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากดอลลาร์อ่อนค่า และเงินไหลเข้ามาในเอเชียรวมทั้งไทย แต่การศึกษาเปรียบเทียบกับคู่ค้า 20 ประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 2 ที่ผ่านมาทุกสกุลแข็งค่าหมด ขณะที่เงินบาทไทยแข็งค่าระดับกลาง ๆ จึงไม่สูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน

ประกอบกับ ผู้ประกอบการมีการปรับตัวดีในหลายมิติ โดยเฉพาะการทำประกันความเสี่ยง โดย ส.ค.-ก.ย.53 ซึ่งเดือนก.ย.ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าเร็วมาก ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิม 35% ของรายได้การส่งออกทั้งหมด และมีความสามารถในการต่อรองราคากับผู้ซื้อด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้เงินสกุลอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐในการชำระเงินและกำหนดราคาซื้อขายสินค้า และปรับลดการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าเหลือ 3 เดือน จาก 6 เดือน รวมถึงมีการนำเข้าเครื่องจักกรเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนปัญหาน้ำท่วม ยังเร็วไปเกินกว่าที่จะประเมินภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นการประมาณการยังไม่ได้รวมผลกระทบน้ำท่วม แต่ถ้าไม่ดูแลให้ดีผลกระทบของเศรษฐกิจก็คงมีมาก

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ธปท.ยังคงประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานในระดับเดิม ขณะที่ปี 54 ด้วยเศรษฐกิจที่ขยายตัว บวกกับค่าจ้างแรงงานที่เร่งตัวขึ้น ก็จะทำให้การบริโภคมากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าเร่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาสินค้าที่ถูกกระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาเอาไว้ในขณะนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจะผลักต้นทุนที่สูงขึ้นไปที่ราคาสินค้า ก็จะทำให้เงินเฟ้อปีหน้าเร่งตัวขึ้น

ด้านปัญหาราคาพืชผลเกษตรที่เร่งตัวขึ้น เป็นแค่เรื่องซัพพลายช็อคที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว ไม่มีผลต่อนโยบายการเงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถดูแลปัญหาซัพพลายช็อคได้ โดยนโยบายดอกเบี้ยจะดูแลแรงกดดันจากอุปสงค์จริง ๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 1.75% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงปัจจุบันยังติดลบ และยังมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ ยังไม่เป็นอัตราดอกเบี้ยตามปกติ ดังนั้น วัฎจักรดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น เพราะยังอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ความจำเป็นในการใช้ดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจหมดไป และยังมีความเสี่ยงในความไม่สมดุลต่ออัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ทำให้คนไม่ฝากเงิน การออมเงินต่ำ ก็จะทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีปัญหาในการชำระคืน ประกอบกับ หากนำไปสู่การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจจะก่อให้เกิดฟองสบู่ที่แก้ไขยากและมีต้นทุนสูง แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เห็นสัญญาณนั้นก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงอาจจะกระทบกับฐานะสถาบันการเงินและนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ