พณ.ให้ผู้ประกอบการปรับตัวรับระเบียบสินค้ายางรถยนต์ฉบับใหม่ของอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 29, 2010 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอินเดีย โดยกรมนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยมาตรฐานสินค้า พ.ศ. 2529 (the Bureau of Indian Standards Act, 1986) ได้ออกระเบียบควบคุมคุณภาพยางรถยนต์ พ.ศ.2552 (Pneumatic Tyres and Tubes for Automotive Vehicles(Quality Control) Order,2009) ซึ่งจะบังคับใช้จากเดิมเป็นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นไป

สาระสำคัญคือของระเบียบฉบับใหม่ คือ ห้ามผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน(IS standard) และไม่ได้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานตามที่กำหนด(IS certification Mark), ผู้ผลิตยางนอกและยางในรถยนต์ตามพิกัดที่กำหนดในระเบียบฉบับนี้ทุกรายต้องยื่นขออนุญาต(license) เพื่อขอใช้เครื่องหมายมาตรฐานจากหน่วยงาน the Bureau of Indian Standards ภายใน 45 วันหลังจากวันที่ออกระเบียบนี้ โดยต้องส่งตัวอย่างสินค้าไปทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง

ทั้งนี้ ระเบียบฉบับนี้ครอบคลุมยางรถยนต์พิกัดศุลกากร 4011 10 จำนวน 4 รายการ คือ Pneumatic tyres for two and three-wheeled motor vehicles-Specification IS 15627, Pneumatic tyres for passenger car vehicles-Diagonal and radial ply-Specification IS 15633, Pneumatic tyres for commercial vehicles-Diagonal and radial ply-Specification IS 15636 และTubes for Pneumatic tyres —Specification IS 13098

นอกจากนี้ การนำเข้ายางรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานตามระเบียบนี้ อย่างไรก็ตาม ระเบียบฉบับนี้ไม่มีผลบังคับกับยางรถยนต์ที่หน่วยงาน Directorate General of Foreign Trade (DGFT) ออกกฎหมายยกเว้นไว้ (Radial tyres : HS 4011 20 10)

สำหรับยางรถยนต์พิกัดศุลกากร 4011 10 ไทยส่งออกมูลค่าเฉลี่ย(ปี 2550-2552)รวมทั้งสิ้นปีละ 21,301 ล้านบาท โดยส่งออกไปอินเดียมูลค่า 266 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.24 ของการส่งออกรวม สำหรับปี 2553(มค.-กย.) ส่งออกมูลค่า 450 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับที่ส่งออกมูลค่า 182 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ