(เพิ่มเติม) ผู้ว่าฯ ธปท. เผยนโยบายการเงินที่ใช้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 29, 2010 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

สำหรับปัจจัยในประเทศ จะต้องติดตามดูเรื่องการเมือง ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพทางด้านการลงทุนและความเชื่อมั่น ส่วนปัจจัยภายนอกยังมีความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจโลก โดยขณะนี้มีผลกระทบต่อเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาท

"เห็นได้ชัดว่า การส่งออกของไทยไม่สามารถพึ่งพาแรงงานราคาถูกหรือเงินบาทที่อ่อนค่าได้อีกต่อไป" ผู้ว่าธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลไม่ให้เกิดความผันผวน และยืนยันว่าการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แบบมีการจัดการ และนโยบายการเงินในการดูแลกรอบเงินเฟ้อมีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจไทย

"แบบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธปท.ใช้อยู่แบบ Flexible Inflation Targeting ควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการนั้นเป็นกรอบนโยบายที่ให้ความยืดหยุ่นที่ดีสำหรับประเทศไทย" นายประสาร ระบุ

ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า ในระยะสั้นเครื่องมือในการดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อและเงินบาทมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเลี่ยนได้ เรื่องค่าเงินบาท จะมีเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามธนาคารกลางของประเทศอื่นด้วย และมีความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

"เราติดตามอยู่ คงบอกไม่ได้ว่าไม่ทำอะไรเลย แต่การทำจะต้องไม่กระทบกระเทือนไทย โดยพยายามที่จะลดความผันผวน ที่ผ่านมาเงินบาทก็นิ่งเป็นปกติดี เห็นใจผู้ส่งออก แต่เราก็ไม่รู้ว่าคู่ต่อสู้มามวยท่าไหน ดังนั้นเราก็มีการเก็บมาตรการเอาไว้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ ของพวกนี้มันอาจกระทบต่อกติกาสากล กระทบความเชื่อมั่น เอาเป็นว่าเราจะรักษาความยืดหยุ่นทางด้านนโยบายเอาไว้" นายประสาร กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ธปท.ได้ลดการถือครองดอลลาร์ในตะกร้าทุนสำรอง ซึ่งธนาคารกลางประเทศอื่นก็ทำเช่นเดียวกัน โดยตอนนี้ใช้ดอลลาร์ซื้อขายทั่วโลก 80-90% เราก็ต้องมีเก็บเอาไว้บ้างเหมือนทุกประเทศ และในทางกลับกัน หากเกิดภาวะเงินไหลออกอย่างรวดเร็ว เราก็พร้อมจะนำทุนสำรองมารักษาเสถียรภาพของประเทศ

"พยายามลดการถือครองดอลลาร์ และมีการซื้อขายสกุลอื่นมากขึ้น...การที่ธปท.เข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในจีนก็ถือเป็นสัญญลักษณ์หนึ่งในการปรับทิศของธปท." นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าฯธปท. กล่าวถึงกรณีมีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังกู้เงินทุนสำรอง เพื่อใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดแรงกดดันเงินบาทว่า เป็น concept ที่ดีในการรักษาความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่การที่จะลงลึกไปเอาทุนสำรองไปใช้ มันก็เป็นแรื่องหนึ่ง ใครจะเอาเงินในธนาคารกลางไปใช้จะต้องคิดให้ดี

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่ก็มีความเป็นไปได้เพราะมีเงินไหลเข้ามาในไทยมาก ราคาสินทรัพย์ก็จะต่ำ ซึ่งในอดีตไทยก็เป็นแบบนี้ ทั้งนี้ธปท.มองด้วยความระมัดระวังอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ