ธปท.เผยอัตราการใช้กำลังการผลิต ก.ย. อยู่ที่ 64.4%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 29, 2010 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า อัตราการใช้กำลังผลิตในเดือนก.ย. 53 อยู่ที่ 64.4% ระดับการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการขยายตัวยังคงปรับสู่แนวโน้มปกติ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ขยายตัว 8.1% ชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ การผลิตที่ขยายตัวดี เช่น Hard Disk Drive, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ สอดคล้องกับคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่มีคำสั่งซื้อที่ยังค้างส่งมอบอยู่มาก

ด้านภาคเกษตร อุปทานในประเทศลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง รวมทั้งปัญหาเพลี้ยระบาดที่ส่งผลยาวนานและรุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรหดตัว 3.1% ขณะที่ราคาพืชผลยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 31.4% จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.3%

ด้านอุปสงค์ในประเทศ เริ่มชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน(PCI) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% เทียบกับที่ขยายตัว 6.7% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเครื่องชี้การนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การใช้จ่ายอื่น ทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยยังขยายตัวดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนจากรายได้ภาคเกษตร การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง

ด้านการลงทุน ดัชนีการลทุนภาคเอกชน(PII) เพิ่มขึ้น 20.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยในกทม. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับภาคการคลัง ในเดือนก.ย.นี้ การใช้จ่ายรวมทั้งจากงบประมาณปกติและเงินกู้ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ลดลง 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนมีการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามโครงการไทยเข้มแข็งฯ ขณะที่รายได้จัดเก็บขยายตัวดีจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้นำส่งภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายจ่าย ส่งผลให้ดุลเงินสดรัฐบาลเกินดุล 67.4 พันล้านบาท สำหรับทั้งปีงบประมาณ 53 ภาครัฐยังคงมีบทบาทในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากปีงบประมาณก่อน สะท้อนจากดุลเงินสดที่ขาดดุล 2.0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ