นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากพบการระบาดในพื้นที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่เคยเกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาก่อน
โดยจากการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 16 กันยายน ถึง 11 ตุลาคม 2553 ได้มีการพบพื้นที่การระบาดทั้งหมด 14 อำเภอ รวมพื้นที่ระบาด 112,273 ไร่ โดยมีพื้นที่การระบาดรุนแรง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ท่าลี่ และเชียงคาน พบต้นข้าวแห้งตายเป็นหย่อม ๆ ในแปลงนาของเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ กข6 เป็นส่วนใหญ่และบางส่วนต้นข้าวฟื้นตัวแล้วแต่ยังพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ต่ำกว่าระดับเศรษฐกิจ และพบศัตรูธรรมชาติ ได้แก่มวนเขียวดูดไข่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้หน่วยงานในพื้นที่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านสารเคมี กำจัดแมลง ได้แก่ คาร์โบซัลแฟนและให้ความรู้เรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและการป้องกันกำจัด เนื่องจากเกษตรกร ยังไม่รู้จักแมลงชนิดนี้มาก่อน
สาเหตุการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดเลยครั้งนี้ อาจเนื่องมาจากลมมรสุมพัดพามาจากจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ หรือประเทศลาวเข้ามาในพื้นที่ปลูกข้าวทั้ง 14 อำเภอ ประกอบกับต้นข้าวในแปลงนาของเกษตรกรมีโรคไหม้ระบาดจึงทำให้ต้นข้าวตายเป็นหย่อมๆ
สำหรับเกษตรกรที่ตรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาเกินระดับเศรษฐกิจควรใช้สารเคมีตามคำแนะนำของทางราชการ คือ ในระยะข้าวแตกกอควรใช้สารบูโพรเฟซิน และระยะข้าวแตกกอเต็มที่ถึงออกรวง ควรใช้สารประเภทดูดซึม ได้แก่ คาร์โบซัลแฟนและเชื้อราบิวเวอร์เรียควบคุมการระบาด
อย่างไรก็ตามกรมการข้าวจะเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพื่อนำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรต่อไป