ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าเทียบเยน จากกระแสคาดเฟดใช้มาตรการ QE

ข่าวต่างประเทศ Saturday October 30, 2010 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 ต.ค.) จากกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในการประชุมต้นสัปดาห์หน้า เนื่องจากการดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะยิ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงอีก

ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลง 0.59% แตะที่ระดับ 80.520 เยน จากระดับ 81.000 ในวันพฤหัสบดี และอ่อนค่าลง 0.19% แตะที่ 1.0187 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.0206 ดอลลาร์แคนาดา แต่ขยับขึ้น 0.05% แตะ 0.9834 ฟรังค์สวิส จากระดับ 0.9829 ฟรังค์สวิส

ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.15% ที่ระดับ 1.3910 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3931 ดอลลาร์สหรัฐ และร่วงลง 0.72% แตะที่ 112.01 เยน จากระดับ 112.82 เยนในวันพฤหัสบดี

ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.54% ที่ระดับ 1.6027 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5941 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้น 0.25% ที่ระดับ 0.9813 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.9789 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.23% แตะที่ 0.7628 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7535 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาแล้ว 3.9% นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. เมื่อเฟดระบุในแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า ธนาคารเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายของเฟด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินนั้น ช่วยหนุนให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ หุ้น ดีดตัวขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ดอลลาร์ร่วงลงอย่างมากเช่นกัน

โดยเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปี เมื่อเทียบกับเงินเยน ในช่วงการซื้อขายวันศุกร์ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในวันที่ 2 พ.ย. และการประชุมของเฟดในวันที่ 2-3 พ.ย. รวมถึงการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางออสเตรเลียในสัปดาห์หน้า

ขณะเดียวกัน วานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 2% ในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด หลังจากที่ในไตรมาส 2 นั้น เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.7%

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อัตราการขยายตัวดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะช่วยลดอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงได้

ขณะเดียวกัน รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนต.ค. ที่ระดับ 67.7 ลดลงจาก 68.2 ในเดือนกันยายน ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 68.0 และยังถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี โดยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่สุดในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่า เฟดจะกลับมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE รอบ 2 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและเชื่องช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ