"โฆสิต" คาดศก.ปี 53 โต 7-8% น้ำท่วมไม่กระทบ, แนะแก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนระดับสากล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 1, 2010 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ในปี 53 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในอัตรา 7-8% ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ส่วนปัญหาน้ำท่วม ไม่น่าจะกระทบการเติบโตเศรษฐกิจไทยในนี้ แต่ขณะนี้คงไม่สามารถยืนยันผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบในปี 54 แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 54 ยังขยายตัวได้ในอัตรา 4-5%

ขณะนี้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และอยู่ในความสนใจ แต่มองว่าเป็นประเด็นระดับโลกที่จะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ในภูมิภาคเอเซีย ยุโรป ได้มีการหารือร่วมกัน

"เชื่อว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง หากไม่สามารถพูดคุยกันได้ จะเป็นการเริ่มต้นของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ความขัดแย้งทางการค้า มีการกีดกันทางการค้า และนำปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นเรื่องสำคัญแบบนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เป็นกระบวนการประสานงานในระดับสากล" นายโฆสิต กล่าว

ทั้งนี้สถานการณ์เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ควรจะมีมาตรการดูแลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งหากเห็นมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และจำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่มเติม ก็ควรเป็นเรื่องภาษีอากร ซึ่งที่ผ่านมาทางการออกมาตรการดูแลเงินไหลเข้ามาแล้ว ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็สามารถออกมาตรการมาดำเนินการเพิ่มเติมได้ และธปท.ได้ออกมาระบุว่ามีมาตรการอื่นพร้อมที่จะนำมาใช้เพิ่มเติม

นายโฆสิต กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นภาระที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน คือ

1. ประเทศมีภาระมากขึ้นในการปรับตัวหลังจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุคขับเคลื่อนโดยประเทศกำลังพัฒนา โดยที่เศรษฐกิจยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ในปีหน้า ดังนั้นไทยจึงต้องปรับตัวเข้าหาประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้สอดคล้องกับการเปิดเสรี ขณะที่ภาคเอกชน นักธุรกิจต้องปรับตัว มีความร่วมมือ ประสานงานกับประเทศในเอเซียมากขึ้น

2.การส่งออกในปี 54 จะขยายตัวไม่เท่าปี 53 โดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว และการส่งออกจะไม่ใช่กลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่จะเป็นการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ดังนั้นการลงทุนจะขยายตัวได้ดี ต้องมีกฎ กติกาที่ชัดเจน

3.ปัญหาการเมือง เป็นความเสี่ยง ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน

4.การปรับนโยบายการเงิน การคลัง ซึ่งในส่วนนโยบายการคลังที่รัฐบาลใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ ในปีงบประมาณ 54 ซึ่งไม่ได้เป็นนโยบายการขาดดุลงบประมาณแบบรุนแรง ส่วนนโยบายการเงิน ขณะนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากมีปัญหาค่าเงินบาท แต่ท้ายที่สุดนโยบายดอกเบี้ยจะต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นความเสี่ยงในปีถัดไป เพราะหากมีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป อาจจะเกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่มองไม่เห็น แต่จะเป็นปัญหาอย่างมาก

"ปัญหาฟองสบู่จะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งปกติจะใช้เวลานานและสะสมจนสุกงอม ซึ่งอาการจะดูได้ยาก ตอนนี้ไม่ควรจะตื่นเต้นเรื่องนี้ เพราะเรารู้สาเหตุแล้วว่าเกิดจากสภาพคล่องส่วนเกิน และการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นเวลานาน ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็ต้องให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว...ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดฟองสบู่ แต่เชื่อว่าฟองสบู่จะเกิดจากสาเหตุนี้" นายโฆสิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ