นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ต.ค.53 อยู่ที่ 108.52 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือน ต.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.03% จากเดือน ก.ย.53 ขณะที่ CPI ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.53) ขยายตัว 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ต.ค.53 อยู่ที่ระดับ 103.83 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน ต.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.11% จากเดือน ก.ย.53 ขณะที่ Core CPI ช่วง 10 เดือนแรก ขยายตัว 0.9%
สำหรับช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังคงคาดว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 53 จะอยู่ที่ 3.3-3.4% เท่าเดิม
สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ต.ค.53 อยู่ที่ 124.42 เพิ่มขึ้น 5.5% จากเดือน ต.ค.52 แต่ลดลง 0.39% จากเดือน ก.ย.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.82 เพิ่มขึ้น 1.3% จากเดือน ต.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.28% จากเดือน ก.ย.53
นายยรรยง กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.53 ซึ่งอยู่ที่ 2.8% ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และเป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือน ต.ค. แม้จะเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ยังส่งผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภคไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาดูว่า ปัญหาอุทกภัยจะยังคงอยู่นานจนอาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโดยเฉพาะในหมวดอาหารสดของในเดือน พ.ย.ก็เป็นได้
"จากปัญหาภาวะน้ำท่วม ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยสินค้าในหลายรายการปรับลดลงเป็นส่วนใหญ่ อาจมีบ้างที่ราคาสูงขึ้น แม้แต่ผักก็ราคาลดลง"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในต.ค. 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สูงขึ้น 2.8%นั้น เป็นการสูงขึ้นในอัตราต่อเนื่องในเดือนที่ 13 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก การสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 5.5% เช่น ดัชนีหมวดข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ขณะที่ได้รับผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น 1.4% เช่น หมวดเคหะสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล หมวดด้านการบันเทิง การอ่าน และการศึกษา เป็นต้น
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2% โดยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.3-3.4% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ คือ 3.0-3.5%
อัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสมต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตประมาณ 7-8% ซึ่งหากทั้งปี 53 เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 3.3-3.4% ถือว่าเศรษฐกิจยังมีความเข้มแข็ง ถือว่าประชาชนยังมีเงินออม และรายได้ประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ปลัดกระทรวงพาริชย์ กล่าวว่า ในปีหน้าคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.2-3.7% ภายใต้สมมติฐานที่ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 78-88 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 28-33 บาท/ดอลลาร์ รัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในปีหน้า
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะพยายามกำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเข้มงวดในปีหน้าเนื่องจากยังเป็นช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ส่วนรายการสินค้าอื่นที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ เช่น ค่าเช่าที่พัก ค่าขนส่ง ค่าการสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ นั้น กระทรวงพาณิชย์จะพยายามประสานงานไปยังหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง
"อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ถ้าเทียบกับเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียแล้ว เราแพ้แค่มาเลเซีย เพราะขนาดจีนและสิงคโปร์ยังดูแลเงินเฟ้อได้ไม่ได้เท่ากับเรา"