ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองแนวโน้มเงินเฟ้อท้ายปีเร่งตัวขึ้นช้า ๆ,คาดน้ำท่วมส่งผล พ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 1, 2010 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 53 และปี 54 แม้แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะมีลักษณะการเร่งตัวที่ช้ากว่าที่คาด และน่าจะทำให้ความกังวลต่อความเสี่ยงของเสถียรภาพทางด้านราคาผ่อนคลายลงไปบางส่วนในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ดี คงจะต้องจับตาทิศทางของราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงเดือน พ.ย.53 ต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่า ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ขยายวงกว้างออกไป อาจหนุนให้ราคาสินค้าอาหารสดในบางหมวดเร่งตัวสูงขึ้น ประกอบกับเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการกระจายสินค้าที่ไม่ทั่วถึงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ยังคงประเมินว่าค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4/53 อาจมีค่าใกล้เคียง หรือต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา แม้ว่าปัญหาอุทกภัยจะส่งผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นต่อทิศทางของราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.9 (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 53 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 3.3 ในช่วงไตรมาสที่ 3/53 ที่ผ่านมา

ขณะที่ การดูแลติดตามทิศทางราคาสินค้าผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก น่าที่จะช่วยทำให้แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสามารถรักษาทิศทางการปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ต่อไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 53

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของราคาวัตถุดิบนั้น อาจเป็นสถานการณ์ที่บีบให้มาร์จินของผู้ประกอบการหดแคบลง และอาจนำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาสินค้าในระยะถัดๆ ไป นอกจากนี้ การทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (สวนทางกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ) การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนช่วงต้นปี 54 และตามมาด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในช่วงเดือนเมษายน 2554 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของเงินเฟ้อในปี 54 ด้วยเช่นกัน

โดยประมาณการเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 อาจมีค่าอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.5-4.0 เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 53 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 3.3-3.6

อย่างไรก็ดี ทางการไทยยังคงมีเครื่องมือที่เพียงพอในการดูแลความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยในส่วนของภาครัฐ ก็อาจเลือกพิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ (หลังครบกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2553) และการตรึงราคาก๊าซ LPG/ NGV (หลังครบกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554) ออกไป ร่วมกับการดูแลราคาน้ำมันดีเซลและราคาสินค้าผู้บริโภคอื่นๆ

ขณะที่ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นั้น ก็อาจกลับมาทำการคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปีข้างหน้า (หลังจากที่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ตลอดในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้) หากแนวโน้มเงินเฟ้อโดยเฉพาะในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อเสถียรภาพทางด้านราคาอันเป็นภารกิจหลักของธปท.

แต่คาดว่า ธปท.จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ก็เพื่อบรรเทาผลทางอ้อมที่มีต่อต้นทุนดอกเบี้ยของภาคธุรกิจ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ย และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ท่ามกลางแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่อาจชะลอตัวลงสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก

สำหรับการประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.53 น่าจะเป็นเดือนที่มีหลากหลายปัจจัยหนุนระดับราคาผู้บริโภคให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในเรื่องของปัจจัยทางด้านฤดูกาลจากเทศกาลกินเจ และปัจจัยเพิ่มเติมจากการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อล่าสุดสะท้อนว่าราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปยังคงมีระดับที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า (ปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.03 MoM เท่านั้น) เนื่องจากปัญหาอุทกภัยหลายแห่งช่วงครึ่งหลังของเดือน ต.ค.ยังคงส่งผลไม่ชัดเจนมากนักต่อดัชนีราคาผู้บริโภค จึงต้องจับตาทิศทางของราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงเดือน พ.ย.53 ต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่า ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ขยายวงกว้างออกไป อาจหนุนให้ราคาสินค้าอาหารสดในบางหมวดเร่งตัวสูงขึ้น

ขณะที่ ยังคงมีอีกหลากหลายปัจจัยที่รอกำหนดทิศทางของเงินเฟ้อในช่วงปี 54 อาทิ ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ตลอดจนการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานทั้งในส่วนของภาคเอกชนและเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.5-4.0 ในปี 54 เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 53 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 3.3-3.6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ