นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าจะมาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญภายในประเทศ คือ เรื่องการเมือง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อการตัดสินใจลงทุนค่อนข้างมาก
ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศมาจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่นที่มีการอัดฉีดเงินเข้ามาแก้ไขปัญหาค่อนข้างมาก ทำให้มีผลข้างเคียงทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย เพราะให้ผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ที่สูงกว่า ดังนั้น ในช่วงสั้นจึงเห็นความท้าทายในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในแง่ของการทำหน้าที่ของ ธปท.มีความท้าทาย 3 ด้าน คือ นโยบาย กระบวนการทำงาน และบุคลากร โดยระดับนโยบายนั้น การเลือกใช้นโยบายเป็นความท้าทายในการทำงานของ ธปท.เพราะทางทฤษฎีมี 3 ด้าน คือ การใช้นโยบายการเงินอิสระ ใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงหรือต่ำเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา , การให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี และ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งไทยใช้นโยบายด้านที่ 1-2 แต่หากใช้ด้านที่ 3 ก็อาจเกิดประสบการณ์แบบปี 40
ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และแนวโน้มในระยะต่อไปมีค่อนข้างสูง ขณะนี้แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน แต่อาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีหน้า ซึ่งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 54 อาจอยู่ที่ 2-3% หากวางกรอบเป้าหมาย 0.5-3.0% เงินเฟ้ออาจแตะกรอบบนได้ โดยเฉพาะหลังจากมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนสิ้นสุดลงไป
แต่หากปล่อยให้ดอกเบี้ยในประเทศสูงขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้เงินไหลเข้า ขณะที่หากถ้าอัตราดอกเบี้ย ยังกลับไปสู่ภาวะปกติไม่ได้ โดยสภาพคล่องยังมีอยู่สูง ก็อาจจะมีผลต่อราคาหุ้น และในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ธปท.ในเรื่องของกรอบนโยบายใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยดูอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่เศรษฐกิจด้วย
สำหรับการบริหารงานของธปท.ในด้านกระบวนการทำงาน ถือว่าดีขึ้นในภาพรวม เนื่องจากมีคณะกรรมการดูแลอย่างขัดเจน ทั้งคณะกรรมการ ธปท., คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.), คณะกรรมการกำกับสถาบันการเงิน และ คณะกรรมการชำระเงิน
ส่วนด้านบุคลากร เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง ธปท.จะต้องทำใน 3 เรื่อง ด้านวัฎจักรการบริหารบุคลากร คือ การให้มีบุคลากรเพียงพอ การให้บุคลากรมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีทักษะ การเป็นองค์กรที่ให้พนักงานมีผลงานและมีผลิตภาพ