In Focusชำแหละมาตรการ QE ยาดีหรือยาหลอก ให้คุณอนันต์หรือโทษมหันต์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 3, 2010 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายเดือนที่ผ่านมานี้ คำว่า QE กลายเป็นศัพท์แสงทางการเงินที่ฮอตฮิตติดหูมากที่สุดในตลาดหุ้นทั่วโลก และ QE ยังเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นและตลาดการเงินโลกมากที่สุด เมื่อมีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศใช้มาตรการ QE รอบสอง หรือที่เรียกติดปากกันว่า QE2 ในการประชุมคืนนี้ (3 พ.ย.) ตามเวลาประเทศไทย

อาจกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญของ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด เป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดกระแสตื่น QE ในตลาดการเงินโลกก็ว่าได้ โดยเฉพาะการส่งสัญญาณครั้งล่าสุดในที่ประชุมที่รัฐโรดไอส์แลนด์เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ว่า อัตราว่างงานที่สูงเป็นเวลานาน และตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ... วาทะของเบอร์นันเก้ในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ในวงกว้างว่า เฟดจะเข็นมาตรการ QE ออกมาสยบพิษเศรษฐกิจให้อยู่หมัดอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขานรับทันที และยังหนุนนำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรีบาวด์กันถ้วนหน้า

นักวิเคราะห์กล่าวว่า สาเหตุที่ตลาดรับเอาคำพูดของเบอร์นันเก้มาเป็นปัจจัยก็เพราะว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เบอร์นันเก้กลายเป็นคนระมัดระวังคำพูด และระวังที่จะส่งสัญญาณใดๆต่อตลาดเป็นอย่างยิ่ง นั่นอาจเป็นเพราะความเข็ดหลาบจากการพูดติดตลกในที่ประชุมแห่งหนึ่งเมื่อเดือนพ.ย.2545 ว่า "หนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาแรงกดดันเงินฝืด ก็คือการโยนถังเงินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์" มุขตลกดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนสหรัฐตั้งสมญาให้เบอร์นันเก้ว่า "เฮลิคอปเตอร์ เบน" แต่เบอร์นันเก้กลับรู้สึกหงุดหงิดจนต้องวิ่งโร่ออกมาแก้ข่าวว่า "ประโยคนั้นผมพูดเล่น" แต่ไม่ทันเสียแล้ว เพราะวันรุ่งขึ้นก็มีพ่อค้าหัวใสทำเสื้อยืดและสติกเกอร์เป็นรูปท่านเบอร์นันเก้ยืนจังก้าอยู่หน้าที่ทำการธนาคารกลางสหรัฐ พร้อมกับรูปเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังโปรยแบงก์ยูเอสลงมา

* เจาะลึกมาตรการ QE มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

QE หรือ Quantitative Easing แปลความตามตัวอักษรว่า "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินอธิบายว่า เป็นมาตรการที่ธนาคารกลางนำมาใช้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต สภาพคล่องในระบบหดตัว และสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับการถดถอย หลักการทำ QE ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆก็คือ ธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน และตราสารหนี้ประเภทที่มีสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) เมื่อสภาพคล่องสูงขึ้น เม็ดเงินในระบบก็ไหลลื่น สถาบันการเงินก็ปล่อยเงินกู้เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง

อีกนัยหนึ่งของ QE ที่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งให้ความหมายไว้ก็คือ การพิมพ์เงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ ผ่านการออกพันธบัตร แล้วให้เม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนเพื่อบรรเทาความตึงตัวในระบบ ... ฟังดูเหมือน QE เป็นยาวิเศษที่สามารถ "เสกเงิน" เข้าระบบได้ดังใจหวัง แต่ก็มีนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า เดิมทีนั้นธนาคารกลางโดยทั่วไปจะใช้นโยบายการเงินที่เน้นเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่นโยบายดังกล่าวเริ่มไม่ได้ผลแล้ว เพราะดอกเบี้ยในปัจจุบันต่ำจนแทบจะเหลือศูนย์ และจะทำให้เป็นลบก็คงเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่นโยบายการคลังของรัฐบาลซึ่งเคยใช้ได้ผลก็กลับมาแป๊กในช่วงหลังๆ เพราะหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงมาก คำตอบจึงออกมาที่ QE

... แต่การทำ QE ด้วยการเพิ่มเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบด้วยการเข้าซื้อตราสารทางการเงินนั้น จะส่งผลให้งบดุล (balance sheet) ของธนาคารกลางอยู่ในภาวะที่ไร้สมดุล ทั้งทางฝั่ง asset (ตราสารที่ซื้อเข้ามา) และฝั่ง liability (เงินที่จ่ายออกไป) ซึ่งนโยบายการเงินแบบปกติจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ นอกจากนี้ มาตรการ QE อาจทำให้ประเทศนั้นๆ ติดกับดักในลักษณะที่เรียกว่า liquidity trap ...ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น พวกเราๆท่านๆก็อาจจะได้ยินข่าวว่า ธนาคารกลางในประเทศยักษ์ใหญ่กลับมาใช้มุข Exit Strategy หรือ ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบกันอีกระลอก

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า หากธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจใช้มาตรการ QE จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดิ่งเหวทันที โดยมีการวิเคราะห์เจาะลึกถึงขนาดที่ว่า เงินที่ธนาคารกลางสหรัฐอัดฉีดเข้าสู่ระบบทุกๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง 0.50% และจะฉุดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงทันที 2% ซึ่งการอ่อนค่าของดอลลาร์จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะราคาทองคำในตลาดโลกที่ขึ้นไปยืนที่ระดับ 1,356.90 ดอลลาร์/ออนซ์เมื่อคืนนี้ (2 พ.ย.) อันเนื่องมาจากกระแสคาด QE

ในฝั่งผู้เชี่ยวชาญของไทยเรานั้น ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เมื่อครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหัวว่า ในการอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ตลาดการเงินภายใต้มาตรการ QE นั้น หากประเทศทั่วโลกทำในสิ่งเดียวกันนี้ ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะปัญหาฟองสบู่จะยิ่งส่งผลให้ภาวะไร้สมดุลทางการค้าทั่วโลกขยายวงกว้างออกไปอีก และอาจจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินระลอกสองที่จะรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตซับไพรม์

* รัฐบาลเอเชียผวา หวั่นมาตรการ QE หนุนเม็ดเงินทะลักเข้าภูมิภาค

ทันทีที่หัวเรือใหญ่ของเฟดออกมาส่งสัญญาณเรื่องการใช้ QE ประกอบกับกระแสคาดการณ์ในตลาดที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ได้ทำให้รัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลในเอเชีย ประเมินกันไปล่วงหน้าแล้วว่า เฟดจะใช้มาตรการ QE ในการประชุมคืนนี้แน่นอน รัฐบาลในหลายประเทศของเอเชียต่างประกาศจับตาการประชุมเฟดในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสเงินทุนจำนวนมหาศาลที่คาดว่าจะทะลักเข้าสู่เอเชีย บางประเทศถึงกับเตรียมมาตรการควบคุมการเข้าออกของกระแสเงินทุน ซึ่งรวมถึงรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยอมรับว่ากำลังพิจารณามาตรการที่เป็นไปได้หลายมาตรการ อาทิ การจัดเก็บภาษีจากธนาคาร โดยเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 14% จากกำไรที่ได้จากการลงทุนพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ ไปจนถึงมาตรการควบคุมการก่อหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง

ขณะที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากว่า อาจจะนำความเสี่ยงมาสู่หลายประเทศในเอเชีย และหากรัฐบาลในเอเชียไม่สามารถควบคุมกระแสเงินทุนเหล่านี้ได้ ก็อาจเผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ปะทุขึ้นอย่างฉับพลัน และอาจนำไปสู่การตีกลับอย่างไร้ระบบของเงินทุน ด้านเซติ อัคตาร์ อาซิซ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวว่า หากสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มควบคุมไม่ได้ มาเลเซียก็พร้อมที่จะแทรกแซงตลาด แต่จนถึงขณะนี้แนวโน้มของเงินริงกิตยังสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ออกรายงานเตือนให้ประเทศในเอเชียระมัดระวังกระแสเงินทุนต่างประเทศที่จะไหลทะลักเข้าสู่ภูมิภาคต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตัวอย่างเชื่องช้า สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียที่ขยายตัวแข็งแกร่ง โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะสูงกว่าจีดีพีของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ประมาณ 4.4%

          อันที่จริง มาตรการ QE ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้ใช้แต่ในสหรัฐเท่านั้น เพราะมีอีกหลายประเทศเคยนำมาใช้เพื่อเยียวยาวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงอังกฤษ และญี่ปุ่น สำหรับสหรัฐนั้น เฟดเคยประกาศใช้มาตรการ QE1 ภายใต้ชื่อ Credit Easing หรือแปลตามตัวว่า มาตรการผ่อนคลายด้านสินเชื่อ เพราะนโยบายดอกเบี้ยต่ำ 0-0.25% ไม่เวิร์ค เฟดจึงเข็น QE1 ออกมากู้ซากเศรษฐกิจ ด้วยการกว้านซื้อตราสารนานาชนิดเข้ามาเก็บ รวมถึงพวก Toxic Asset อย่างตราสาร MBS ที่เป็นต้นตอของปัญหาซับไพรม์

          ส่วนญี่ปุ่นที่ต่อสู้กับภาวะเงินฝืดมานานหลายทศวรรษ เริ่มใช้มาตรการ QE ในปี 2544 โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่จนถึงขณะนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถโงหัวขึ้นจากเงินฝืดได้ จึงทำให้มีการวิเคราะห์ในวงกว้างว่า บีโอเจอาจจะเข็น QE2 ออกมาดับพิษเศรษฐกิจ ... พูดถึงบีโอเจแล้ว อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตว่า การที่บีโอเจขยับการประชุมกำหนดนโยบายเข้ามาเร็วขึ้น เป็นวันที่ 3-4 พ.ย. จากเดิม 15-16 พ.ย.นั้น อาจเป็นเพราะต้องการหยั่งเชิงกระแสตอบรับมาตรการ QE2 ของเฟดก็เป็นได้

          นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษก็ใช้มาตรการ QE มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 เนื่องจากผลกระทบจากการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ไปจนถึงวิกฤตหนี้ยุโรป ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษย่ำแย่ไปด้วย โดยจนถึงขณะนี้ วงเงินที่ธนาคารกลางอังกฤษนำมาใช้ภายใต้มาตรการ QE อยู่ที่ 2 แสนล้านปอนด์แล้ว

          .. นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดหุ้น ตลาดการเงิน ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลทั่วโลก พากันติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดในรอบนี้กันชนิดตาไม่กระพริบ ซึ่งตัวแปรที่สำคัญคือ "วงเงิน" ที่เฟดจะใช้ในมาตรการ QE2 โดยโพลล์ของนักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่า เฟดอาจจะเข้าซื้อพันธบัตรมูลค่าระหว่าง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ - 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่หากว่าเฟดเข้าซื้อด้วยวงเงินที่ต่ำกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ก็อาจจุดชนวนให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น ...ผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันคืนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ