"ศุภวุฒิ"คาดหุ้นไทยไปได้ต่อ 1-2 เดือน หวั่นภาวะฟองสบู่หากทุนนอกไหลเข้าต่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยถือว่าปรับตัวขึ้นมาสูงมาก และคาดว่ายังคงปรับขึ้นต่อเนื่องได้อีกในระยะ 1-2 เดือน แต่หลังจากตลาดหุ้นจะเข้าสู่ภาวะอันตรายหากยังปรับตัวสูงขึ้นต่อ เนื่องจากราคาหุ้นปรับขึ้นมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน จากเดิมที่ตลาดหุ้นไทยถูกกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคประมาณ 20% แต่ปัจจุบัน P/E ของตลาดหุ้นไทยขึ้นมาอยู่ที่ 15 เท่าถือว่าอยู่ระดับเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคแล้ว

และจากการที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า และเป็นการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าถึง 7% และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่า 10% ทำให้เห็นว่าควรมีมาตรการควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาทิ การเก็บภาษีการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน หรืออาจเป็นมาตรการอื่น แต่ควรเป็นมาตรการที่ผ่อนคลายมากกว่ามาตรการการตั้งสำรอง 30% ที่ธปท.เคยนำออกมาใช้ในอดีต

"การที่จะเกิดฟองสบู่ อีกหรือไม่ ไม่สามารถกำหนดได้ แต่กังวลว่าภาวะตลาดทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะเร่งให้เกิดภาวะฟองสบู่ ดังนั้นควรมีมาตรการจากแบงก์ชาติ ออกมาดูแลเรื่องค่าเงิน เพื่อไม่ให้เงินไหลเข้ามากเกิน แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากแบงชาติมีมาตรการออกมา ก็จะมีมีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยที่กำลังขึ้นต่อเนื่องตอนนี้"นายศุภวุฒิ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง"เจาะลึก ทิศทางเศรษฐกิจปี 2554"

ส่วนกรณีที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลให้ค่าเงินดออลลาร์อ่อนค่าลง และทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นไปอีก เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโตเฉลี่ย 4-5% โดยเชื่อว่าหากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเกิดผลระทบต่อค่าเงินต่อไปอีก

สำหรับปัญหาน้ำท่วม นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีผลกระทบประมาณ 0.2-0.5% และส่งราคาสินค้าเกษตรปรับสูงเขึ้น ส่วนปัญหาการเมืองต้องติดตามต่อไปในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไขในปีหน้า ได้แก่ ปัญหาการว่างงาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ