ก.เกษตรฯ เดินหน้ามาตรการเยียวยาเกษตรกรทันทีหลังน้ำลดควบพักชำระหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบหลักการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย และมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ สำหรับมาตรการฟื้นฟูเกษตรกรและประชาชนทั่วไปหลังภาวะน้ำลด กระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนเงินแก่ผู้ประสบภัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 — สิ้นสุดฤดูฝนปี 2553 กรอบวงเงินรวม 14,883.407 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรอบวงเงินที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระยะต่อไปจนสิ้นฤดูกาล

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรผู้ประสบอุทกภัย แบ่งเป็น ด้านพืช ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตรวม โดยช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ร้อยละ 100 กรณีพืชเสียหาย ให้ช่วยเหลือข้าว อัตราไร่ละ 2,098 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 2,921 บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 4,908 บาท และกรณีพืชสวนและไม้ยืนต้นที่ยังไม่ตายและฟื้นฟูได้ให้ช่วยเหลืออัตราไร่ละ 2,454 บาท

ด้านประมงและปศุสัตว์ ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 ส่วนที่เกินจากการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ ให้ช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่เกินจากเกณฑ์ปกติ ส่วนด้านประมง ปลา ให้ความช่วยเหลือไร่ละ 3,406 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้ง ปู และหอย ให้ความช่วยเหลือไร่ละ 9,098 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง/บ่อ ให้ความช่วยเหลือตารางเมตรละ 257 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร

ทั้งนี้ หากความช่วยเหลือต่างๆ คำนวณแล้วได้รับการช่วยเหลือต่ำกว่า 257 บาท ก็ให้ปรับอัตราการช่วยเหลือเป็นรายละ 257 บาท และด้านปศุสัตว์ กรณีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหายแปลงหญ้าสาธารณะให้ความช่วยเหลือเป็นเมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กก. และหรือใช้หน่อพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กก. และ แปลงหญ้าส่วนตัวของเกษตรกร ให้รายละไม่เกิน 20 ไร่ และใช้เมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กก. และหรือใช้หน่อพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กก. และกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย มีเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่สำคัญ เช่น โคไม่เกิน 2 ตัว กระบือไม่เกิน 2 ตัว สุกร ไม่เกินรายละ 10 ตัว เป็ดพันธุ์ไข่และพันธุ์เนื้อ ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว ไก่พื้นเมือง ไม่เกินรายละ 300 ตัว ไก่ไข่ ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

ส่วนการช่วยเหลือในด้านมาตรการด้านหนี้สิน จะพักชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วย กรณีสมาชิกเสียชีวิตจากอุทกภัย ให้จำหน่ายออกจากบัญชีของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นสูญ โดยรัฐบาลจะรับภาระหนี้แทน และกรณีสมาชิกประสบภัยร้ายแรงแต่ไม่เสียชีวิต หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบอุทกภัย ให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553 - 2555 งดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ตามอัตราที่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเรียกเก็บจากสมาชิก

"อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น มีสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ได้รับความเสียหาย 52 จังหวัด สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 271 แห่ง สมาชิก จำนวน 49,304 ราย ต้นทุนเงินกู้ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ 3,246.148 ล้านบาท ประมาณการที่จะขอชดเชยปีละ 306.594 ล้านบาท จำนวน 3 ปี เป็นเงิน 919.782 ล้านบาท" นาย ธีระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ