เอแบคโพลล์ เผยคนห่วงบาทแข็งกระทบศก. เสนอธปท.ใช้มาตรการเชิงรุก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 4, 2010 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อกรณีค่าเงินบาท พบว่า ประชาชนส่วนส่วนใหญ่ถึง 71% ระบุว่ามีความกังวลใจต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 70.5% เห็นว่าผู้ที่ควรจะมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในขณะนี้ควรเป็นการร่วมมือกันของ 2 ฝ่าย คือรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พร้อมเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ควรมีการดำเนินงานที่เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการไว้วางใจนักการเมืองในรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ว่าจะไม่กอบโกยผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 51.5% ระบุว่าไม่ไว้ใจคนทั้ง 2 กลุ่ม

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,823 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 29 ต.ค.-3 พ.ย.53

นายนพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงบางประการคือ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่จำไม่ได้ถึงปัญหาสำคัญของประเทศที่เคยมีกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานั้นอยู่ในสภาวะที่เดือดร้อนและยากลำบาก

สิ่งสำคัญที่น่าจะพิจารณาคือ ควรนำกรณีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับสาธารณชนระลึกถึงเพื่อจะได้สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้เท่าทันพฤติกรรมกอบโกยผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในเวลานี้ ยังไม่มีข้อมูลปรากฏให้เห็นต่อสาธารณชนได้ชัดเจนว่า คนเฉพาะกลุ่มใดกำลังมุ่งกอบโกยผลประโยชน์โดยปล่อยให้ประเทศชาติเสียหาย จึงเสนอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางเชิงรุกต่อกรณีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และรัฐบาลทำหน้าที่เพียงเป็นผู้สนับสนุนในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท, การใช้แนวทางเชิงรุกเพื่อบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ธปท.และรัฐบาลน่าจะมีแนวทางร่วมกันเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบทั่วไปว่า ได้ใช้จังหวะเวลานี้ออกมาตรการรองรับในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไว้อย่างไรในภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับประชาชนคนทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ เพื่อหนุนเสริมให้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ