นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ถือว่าปริมาณเงินเป็นระดับกลาง ๆ จากที่ประเมินไว้ จึงเป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้ไปมากแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าตลาดการเงินจะไม่เกิดความผันผวน
"เม็ดเงิน 6 แสนล้านเหรียญ อยู่ในกรอบที่คาดไว้ และคิดว่าตลาดเงินโดยรวมได้คาดการณ์ว่าจะใช้เงินอย่างน้อย 5 แสนล้านเหรียญ หรืออย่างมาก 7.5 แสนล้านเหรียญ ดังนั้นจึงไม่ใช่ข่าวใหม่ที่จะทำให้ตลาดเงินระยะสั้นที่มีความผันผวน แต่เป็นการยืนยันนโยบายการเงินของสหรัฐ และคิดว่าสหรัฐให้เวลาพอสมควรถึงกลางปีหน้าในการซื้อพันธบัตรด้วยเม็ดเงิน 6 แสนล้านเหรียญ และทยอยซื้อเพื่อไม่ให้กระทบตลาดการเงินโลก"นายกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินของสหรัฐจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบเงินทุกสกุล ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว และเป็นการยืนยันว่าจะต้องมีการปรับตัวในระยะต่อไป เพราะเม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบเป็นจำนวนมหาศาลคงยากที่จะต้านทานได้ ขณะที่รัฐบาลได้มีการศึกษามาตรการไว้ทุกด้าน
แต่มาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้ในการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรและดอกเบี้ยรับที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพันธบัตรไทยขณะนี้ส่งผลทำให้ปริมาณการซื้อพันธบัตรของต่างชาติลดลงกว่าครึ่ง และมีการขายออกพันธบัตรออกมา สะท้อนว่าต่างชาติหยุดเก็งกำไรค่าเงินบาทผ่านตลาดตราสารหนี้ทันที
นายกรณ์ ยอมรับว่า แม้จะมีข้อเสนอให้มีการเก็บภาษีเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า แต่มองว่าไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนได้ เห็นได้จากประสบการณ์หลายประเทศ เช่น บราซิล และชิลิ ที่ใช้มาตรการนี้ แต่ค่าเงินก็ยังแข็งค่าต่อเนื่อง หรือญี่ปุ่นที่แทรกแซงค่าเงินเยนด้วยเงินมหาศาล ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ท้ายสุดก็กลับมาทิศทางเดิม
หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ที่ทางการไทยเคยใช้มาตรการกันเงินสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น แต่เงินบาทยังแข็งค่า ดังนั้นเมื่อรู้ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว สิ่งที่ป้องกันได้คือไม่ให้มีเงินทะลักเข้ามาเกินควรในแง่ของการเก็งกำไร
รมว.คลัง กล่าวว่า แนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันด้วยราคา โดยเฉพาะกำหนดราคาเป็นดอลลาร์จะยากขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องมีการปรับตัว ขณะนี้ก็พบว่าผู้ส่งออกขยายตลาดส่งออกกว้างขึ้น จากเดิมที่พึ่งพาตลาดยุโรปและสหรัฐถึง 60% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะนี้เหลือ 20% ส่วนที่เหลือส่งออกประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าด้วย เพราะยังมีกำลังซื้อยังอยู่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินสกุลอื่นได้มากขึ้น หรือเจรจาในการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะผู้ซื้อที่ค่าเงินแข็งเช่นกัน ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบ จะทำให้เรารักษาส่วนต่างกำไรได้
"กรณีของสหรัฐ คิดว่าผลกระทบมี แต่ในแง่กลับกัน หากนโยบายสหรัฐประสบผลสำเร็จ จะทำให้กำลังซื้อผูบริโภคจากสหรัฐดีขึ้น ก็ส่งผลเชิงบวกกับเรา ทั้งหมดไม่ได้มีผลเชิงลบทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการแต่ละราย" รมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ในวันนี้จะเดินทางเข้าร่วมประชุม รมว.คลังกลุ่มประเทศเอเปค และจะได้เสนอแนวคิดต่อรมว.คลังอาเซียน เพื่อหารือถึงจุดยืดและความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในการดูแลค่าเงิน
ก่อนที่วันที่ 6 พ.ย.จะเข้าพบ รมว.คลังสหรัฐ ซึ่งคงต้องมีการหารือถึงผลกระทบและข้อเสนอของสหรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค เพราะเห็นว่ามาตรการอัดฉีดเงิน 6 แสนล้านเหรียญอาจจะมีผลกระทบ และข้อเสนอของสหรัฐให้กลุ่มประเทศจี 20 ควบคุมดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลหรือขาดดุลไม่เกิน 4% ซึ่งอาจจะส่งผลในเรื่องการกีดกันทางการค้าได้