สคร.ยกเครื่องพอร์ตลงทุนรัฐ แบ่งขายหุ้นบจ.เพิ่มฟรีโฟลต-3 บ.ลูกจ่อเข้าตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 4, 2010 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เผยผลักดันงานใหญ่ยกเครื่องพอร์ตถือหุ้นภาครัฐในกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ เตรียมแก้ระเบียบเอื้อเข้าจัดการ-จ้างเอกชนบริหารพอร์ตแบบมืออาชีพคาดสรุปในปีนี้ ศึกษาขายหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่คลังถือไว้บางส่วนเพื่อเพิ่มฟรีโฟลตในตลาด MCOT รายแรก ที่เหลือทั้ง THAI-PTT-PTTEP-AOT ต่อคิวรอพิจารณาความเหมาะสม พร้อมทั้งผลักดันบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อม 3 รายแรกเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

*ปรับพอร์ตหุ้นรัฐ ศึกษาแบ่งขายหุ้น บจ.เพิ่มฟรีโฟลต MCOT รายแรก

นายสมชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนนำหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่ถืออยู่กระจายเพิ่มเติมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่ม Free float ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และยังเป็นโอกาสที่จะสามารถขยายฐานของนักลงทุนได้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เบื้องต้นสำนักนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะแบ่งขายหุ้น บมจ.อสมท.(MCOT)ที่ภาครัฐถือไว้เกินจากเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะกระจายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะเดียวกัน สคร.ก็ได้ดำเนินการหารือกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม เพื่อขอทราบนโยบายของการนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในบริษัทกลุ่มพลังงานและขนส่งเข้ากระจายเพิ่มเติมด้วย

"มีหุ้นที่เราจะทำฟรีโฟลตในตลาดเป็นรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง บริษัทเอกชน 11 แห่ง เช่น การบินไทย,ธนาคารกรุงไทย, ปตท., ปตท.สผ., ทอท., อสมท.และอีกหลายแห่ง ก็ดูว่าหุ้นที่คลังถืออยู่จะแบ่งขายได้มีเท่าไร ตอนนี้ต้นสังกัดกำลังพิจารณาอยู่ เราก็จะดูว่ามีหุ้นส่วนเกินที่จะขายเท่าไร อาจจะขายให้ประชาชนทั่วไป หรือนักลงทุนสถาบันด้วย ก็กำลังดูอยู่"นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า สคร.อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ เพื่อให้มีการบริหารในเชิงรุก มีประสิทธิภาพ และบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยคาดว่าจะเสนอแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจำหน่ายหุ้นและซื้อหุ้นของส่วนราชการ พ.ศ.2535 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นส่วนที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ โดยจะเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาภายในสิ้นปี 53

หลังการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคแล้ว จะมีการแบ่งกลุ่มหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถือครองอยู่มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ออกเป็น 2 ประเภท คือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์และกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ พร้อมทั้งแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามความจำเป็นในการถือครองและบริหารหลักทรัพย์ คือ 1.หลักทรัพย์ที่ต้องถือครองไว้ เนื่องจากมีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ 2.หลักทรัพย์ที่สมควรจะขายเนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการถือครองต่อไป และ 3.หลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขาย สร้างกำไรให้แก่แผ่นดินได้

ทั้งนี้ อาจจะมีการว่างจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาเป็นที่ปรึกษา หรือบริหารพอร์ตลงทุนอย่างมืออาชีพ โดย สคร.จะต้องกำหนดระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารต่อไป

*3 บริษัทลูกรัฐวิสาหกิจพร้อมเดินหน้าเข้าตลาดหุ้น

นายสมชัย กล่าวอีกว่า สคร.จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการนำบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งที่มีความชัดเจนแล้ว คือ บมจ.ปตท.(PTT) มีนโยบายที่จะนำ บมจ.โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟนิ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนองค์การเภสัชกรรม จะนำ บมจ.เยเนอรัล ฮอสปิตัล โปรดัคส์ และธนาคารกรุงไทย(KTB)จะนำ บริษัท กรุงไทยแอ็กซ่าประกันชีวิต จำกัด เข้าจดทะเบียนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันภายในปีนี้ได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานด้วย แต่เห็นว่าในช่วงนี้ที่ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในทิศทางขาขึ้น ก็น่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียน เพราะจะทำให้การขายหุ้นได้ราคาที่ดีด้วย

*เร่งแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่ประสบผลขาดทุน ขสมก.-รฟท.

นายสมชัย กล่าวว่า สคร.ยังจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีผลดำเนินงานขาดทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่ขาดทุนมานาน และยังมีการแก้ปัญหาล่าช้ามาก เนื่องจากมีข้อติดขัดค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการ ขสมก.โดยปรับโครงสร้างองค์กรแยกเป็น 2 หน่วยงานคือ หน่วยงานบริหารสัญญา เพื่อกำกับและบริหารสัญญาเดินรถให้เป็นไปตามสัญญาการให้บริการเชิงคุณภาพ และหน่วยงานเดินรถ(Operator) ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการเดินรถตามสัญญาการให้บริการเชิงคุณภาพ(PBC) ต้องปรับลดพนักงาน จาก 17,292 อัตรา เหลือ 9,974 อัตรา ผ่านโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด 7,009 คน ใช้วงเงินไม่เกิน 2,532 ล้านบาท (จากเดิมที่เสนอไว้ 6,143 ล้านบาท)ในปีงบประมาณ 55

พร้อมกับ จัดหารถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติ(CNG)เป็นเชื้อเพลิง 4,000 คัน และมีแผนการเตรียมความพร้อมเรื่องอู่และสถานีเติมก๊าซธรรมชาติ โดยขสมก.กู้เงินเพื่อเป็นค่าก่อสร้างในปีงบประมาณ 54 วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอไว้ 5,920 ล้านบาท ด้วยการกู้เงินกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน

มีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ(Re-routing)145 เส้นทาง และประยุกต์ใช้สัญญาการให้บริการเชิงคุณภาพ(PBC)กับทั้งรถโดยสารของ ขสมก.และรถร่วมบริการ ใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ และวางระบบสารสนเทศให้มีความพร้อมรองรับ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการและทุพพลภาพ

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการจัดหารถโดยสารที่จะต้องสอดคล้องกับการดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทางธรรมดา(รถเมล์ฟรี) 800 คัน โดยขณะนี้ ครม.ได้มีการตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินการ มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงาน

ส่วนการแก้ปัญหาของ รฟท.อาจจะติดขัดในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการคัดค้านของสหภาพแรงงาน แต่ล่าสุด รฟท.ได้มีแผนปรับโครงสร้างองค์กรเป็น 3 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ หน่วยเดินรถ หน่วยทรัพย์สิน และหน่วยซ่อมบำรุง รวมทั้งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารโครงการ Airport Rail Link อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเงินทุนในการดำเนินงาน และกำลังจัดแบ่งหน่วยธุรกิจ

ส่วนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน แผนงานหรือโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวน 11 รายการ วงเงินลงทุนรวม 87,529 ล้านบาท โดยแยกเป็นส่วนที่รัฐรับภาระการลงทุน วงเงินรวม 84,024 ล้านบาท และ รฟท. รับภาระการลงทุน วงเงินรวม 3,505 ล้านบาท

โครงการที่จะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรายโครงการ จำนวน 10 รายการ วงเงินลงทุนรวม 89,279 ล้านบาท โดยแยกเป็น ส่วนที่รัฐรับภาระการลงทุน วงเงินรวม 68,310 ล้านบาท และ รฟท. รับภาระการลงทุน วงเงินรวม 20,969 ล้านบาท

*นโยบายสำคัญในการทำงานของ สคร.

นายสมชัย กล่าวว่า ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ สคร.เป็นยุทธศาสตร์ที่สนองต่อแนวนโยบายของ รมว.คลัง ที่เน้นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยมีโครงการประกอบด้วย

1) การแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2) การทดสอบความสนใจภาคเอกชนต่อโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือ โครงการ Market Sounding ซึ่งจะทดสอบความสนใจสายกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ก่อน

3) การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจบางแห่งเป็นนิติบุคคล ได้แก่ โรงงานไพ่ โรงงานยาสูบ องค์การสุรา และสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัว แต่ผลประโยชน์ต่างๆ ที่พนักงานได้รับจะไม่น้อยไปกว่าเดิม 4) การดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนในการนำบริษัทลูกหรือหน่วยธุรกิจใหม่ของรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

5) การเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฐานะทางการเงินให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น รฟท. และ ขสมก. 6) การต่อยอดระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ โดยการนำระบบ SEPA (State Enterprise Performance Appraisal) ซึ่งเป็นการประยุกต์ระบบการประเมินตนเอง (Self Assessment Report) และเกณฑ์การประเมินผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) เข้าด้วยกัน

7) การทบทวนอัตรารายได้นำส่งของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมยิ่งขึ้น 8) การปรับปรุงการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐให้เป็นการบริหารเชิงรุกมากขึ้น โดย สคร.จะแบ่งหลักทรัพย์ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความจำเป็นในการถือครอง และบริหารหลักทรัพย์เหล่านั้นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สคร.จะกำหนดระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารต่อไป

9) การเพิ่มมูลค่าและการยอมรับให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรัฐวิสาหกิจ(Account Officer:AO)โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาของกรรมการรัฐวิสาหกิจ 10) การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ โดย สคร.จะเป็นศูนย์กลางในการพิจารณาการนำทรัพยากรของรัฐวิสาหกิจมาใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุด และ 11) การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลรายสาขา เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ