นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากปัจจุบันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเริ่มลดน้อยลงและจะหมดไปในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะหมดจากประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) จากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับในอนาคตความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP 2010) จะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1 พันเมกะวัตต์ จำนวน 5 โรง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และกระจายความเสี่ยงเรื่องการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้มีข้อเสนอพื้นที่ 2 แห่งที่เหมาะสมจะก่อสร้าง แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเพราะหวั่นถูกคัดค้านจากประชาชน
ส่วนปัญหาการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ไปยังในพื้นที่ภาคใต้ได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น ตนเองจึงสั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานเปลี่ยนการขนส่งจากทางเรือไปเป็นทางรถยนต์แทน ซึ่งส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายชดเชยค่าขนส่งส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น