ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง QE2 ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อศก.-เสี่ยงฟองสบู่-เงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 4, 2010 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินรอบสอง (QE 2) ซึ่งมีวงเงินเริ่มต้น 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ระยะเวลาราว 8 เดือน (จนถึงกลางปี 2554) กลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกยังคงมีอยู่ต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งก็อาจเป็นนัยว่าผลกระทบทางอ้อม หรือ Side Effect ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงฟองสบู่ราคาสินทรัพย์นอกสหรัฐฯ

"เป็นสถานการณ์ที่ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือ การปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และน่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่าเงินบาทอาจทดสอบระดับ 29.00 และ 28.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงที่เหลือของปี 53 และในปี 54 ตามลำดับ ซึ่งทางการไทยก็ได้ทยอยผลักดันมาตรการแก้ไขและลดทอนผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ควบคู่ไปกับการเข้าดูแลการเสถียรภาพและลดทอนความผันผวนของเงินบาทโดย ธปท.ในตลาดปริวรรตเงินตรา

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ก็คือ การก่อตัวขึ้นของภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์หลายประเภทของไทย ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อจุดยืนเชิงนโยบายของธปท.เพิ่มมากขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์

แม้ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย อาจเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็คาดว่า ธปท.และธนาคารกลางในภูมิภาค อาจจำต้องพิจารณาใช้มาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมาตรการดังกล่าว อาจไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เพื่อเสริมสร้างให้การดำเนินนโยบายการเงินด้วยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลภารกิจด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคาในประเทศมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ทางการไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านการคลัง ก็อาจพิจารณาจุดยืนนโยบายการคลังเป็นเชิงผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงหลายด้าน รวมถึงการชะลอตัวของการส่งออกในปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บทเรียนสำคัญที่ธนาคารกลางชาติต่างๆ สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อรับมือกับ “ผลกระทบทางอ้อม หรือ Side Effect" ที่มีต่อเสถียรภาพของสกุลเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ก็คือ การวางแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตรทางเศรษฐกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพ ท่ามกลางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจมีความผันผวนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ