องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยหลายประเทศที่ใช้มาตรการความคุมตลาดเงินที่รัดกุมเพื่อเยียวยาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเผชิญปัจจัยลบจากนโยบายกีดกันทางการค้าในระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน
เลขาธิการ OECD ออกโรงเตือนถึงความเสี่ยงในการใช้มาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการติดตามสถานการณ์ความผันผวนของตลาด และขอให้ประเทศต่างๆ เปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
"การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจมหภาค เพราะวิธีการเช่นนี้อาจกระตุ้นให้มีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ารอบใหม่ขึ้นได้"
"การเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในอนาคตจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน" เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของ OECD กล่าวเสริมในการประชุมร่วมกับสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD)
รายงานฉบับที่ 4 ที่จัดทำขึ้นสำหรับการประชุมสุดยอดจี-20 ที่กรุงโซล ซึ่งจะมีการหารือถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระบุว่า การจับตากระแสเงินทุนและการใช้มาตรการกำกับดูแลเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตราและกระแสเงินทุนไหลเข้าที่อาจเป็นเหตุให้ตลาดเงินทั่วโลกเผชิญความปั่นป่วนและอาจสร้างปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้น
ทั้งนี้ OECD และ UNCTAD ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกลุ่มประเทศจี-20 เฝ้าระวังผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีอัตราว่างงานพุ่งสูงและมีแรงตึงเครียดด้านอัตราแลกเปลี่ยน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อัตราการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มประเทศจี-20 ปรับตัวลดลง 36% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยมูลค่าของกระแสเงินทุนไหลเข้าจะยังคงซบเซาตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเปราะบาง