นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร (PHATRA) เปิดเผยว่า หลังการประกาศมาตรการ QE2 ของสหรัฐ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเซีย รวมถึงไทย และส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
ทั้งนี้ เชื่อว่าทางการไทยคงจะนำมาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control) เข้ามาใช้เช่นเดียวกับที่หลายประเทศดำเนินการ โดยอาจใช้มาตรการแนวเดียวกับมาตรการกันเงินสำรอง 30% แต่คงจะละมุนละม่อมกว่าเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรง และธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องคงดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีเพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินบาท
นอกจากนี้ ธปท. อาจจะมี Macro Prudencial เพื่อเป็นมาตรการกำกับดูแลเฉพาะด้านเพื่อให้เกิดความรอบคอบทางการเงิน ซึ่งอาจจะได้เห็นการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม บัตรเครดิต หรือสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจาก ธปท.มีความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะฟองสบู่ จึงต้องมีนโยบายเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม
"คำถามตอนนี้คือไทยรับกับบาทแข็งค่าได้ที่ระดับไหน เพราะหากจะให้ทางการเข้าไปเหนี่ยวรั้งเงินบาท โดยเข้าไปซื้อดอลลาร์ คงรับไม่ไหว เพราะเป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมค่าลง และไม่ต้องพูดถึงการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน...หากบาทแข็งค่าเกิน 29 บาท/ดอลลาร์ในเวลานี้คงไม่เป็นไร แต่จุดเจ็บปวดต่อเศรษฐกิจเราคือบาทแข็งค่าที่ 28 บาท จุด จุด ซึ่งเป็นภาวะที่การแข่งขันเข้มข้นขึ้น" นายศุภวุฒิ กล่าว ในงานเสวนาเรื่อง ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อผู้ประกอบการและนักลงทุน
ด้านนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยา กล่าวว่า ไทยยังคงมีเงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีการเก็งกำไรในภาคการเงินทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดทุน ดังนั้นจากนี้ไปจะเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ
สังเกตได้ว่าภาวะฟองสบู่แตกจะเกิดที่ P/E ที่ 20-30 เท่า ซึ่งขณะนี้ตลาดหุ้นไทย มี P/E ที่ 12-13 เท่า เท่า P/E ในเอเซีย สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น แม้จะยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ แต่เป็นสัญญาณการเกิด โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยและ P/E ที่อยู่ระดับต่ำ
ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 จุด หากช่วง 2-3 ปี ดัชนีตลาดหุ้นปรับขึ้น 50% ไปอยู่ที่ 1,500 จุด ถือเป็นสัญญาณฟองสบู่ที่โตขึ้นแล้ว
"เงินเฟ้อจะสูงกว่าเงินฝากอีก 1-2 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่ต่ำนานๆ ดอกเบี้ยต่ำนานๆ จะเกิดการเก็งกำไร โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ แม้แบงก์ชาติจะห่วงเรื่องฟองสบู่ ซึ่งปี 54 จะเริ่มเห็นสัญญาณในตลาดหุ้นที่ดัชนีปรับขึ้นวันละ 1-2% รวมถึงสินทรัพย์ที่จะร้อนแรงคือ หุ้น อสังหาฯ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับขึ้นด้วย" นายประภาส กล่าว