บุคคลวงในของอุตสาหกรรมเหมืองที่มีฐานการผลิตแร่ธาตุหายากอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีนมองว่า ทางการจีนกำลังพิจารณาเรื่องการคุมเข้มมาตรฐานที่เกี่ยวกับมลภาวะในการทำเหมืองแร่ธาตุหายาก
จาง จง ผู้จัดการของบริษัท อินเนอร์ มองโกเลีย เป๋าโต สตีล แรร์-เอิร์ท (กรุ๊ป) ไฮ-เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแร่ธาตุหายากรายใหญ่สุดของจีน กล่าวว่า เราทราบมาว่า จะมีการใช้มาตรฐานใหม่อย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะมีการบีบให้บริษัทเหมืองที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้แล้วปิดกิจการไป ซึ่งกฎระเบียบใหม่นี้จะทำให้ต้นทุนในการผลิตแร่ธาตุหายากสูงขึ้น และอาจจะทำให้ราคาในการส่งออกแร่ธาตุหายากของจีนสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้านนายหยาง หว่านซี ที่ปรึกษารัฐบาลในการร่างกฎระเบียบใหม่นั้น กล่าวว่า มาตรฐานใหม่นี้มีเป้าหมายไปที่การบีบให้บริษัทผู้ผลิตยกระดัยเทคนิคด้านการผลิต ยกตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้มีการดูแลปริมาณแอมโมเนีย ไนโตรเจน ซึ่งเป็นสารก่อมลภาวะต่อการผลิตน้ำเสีย 1 ลิตรนั้น จะต้องมีปริมาณต่ำกว่าระดับ 15 มิลลิกรัม จากระดับปัจจุบันที่ 25 มิลลิกรัม
นายหยางยังกล่าวด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญต่างๆยังได้แนะนำให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการจัดการกับผู้ผลิตที่มีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์แร่ธาตุหายากต่อปีไม่ถึง 8,000 ตัน โดยร่างกฎระเบียบนี้ได้มีการนำเสนอไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและข้อมูลแล้ว ทางกระทรวงยังคงเรียกร้องให้มีการรวบรวมความคิดเห็นในแวดวงอุตสาหกรรมต่อกฎระเบียบดังกล่าวอยู่
แร่ธาตุหากยาก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ประกอบด้วยองค์ประกอบของสารเคมี 17 ประเภทนั้น มีความสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทคมากขึ้น เช่น จอแอลซีดี แบตเตอร์รี่รถพลังงานไฟฟ้า กังหันลม จรวด และอัลลอยที่ใช้กับเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองแร่ธาตุหายากจะสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีน กล่าวในการประชุมสุดยอดธุรกิจระหว่างจีนและสหภาพยุโรปครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่า จีนซึ่งมีสัดส่วนของแร่ธาตุหายากและผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุจำนวนมากที่สุดในโลกนั้น กำลังหาทางใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุหายากอย่างยั่งยืน การกำกับดูแลและการควบคุมอย่างเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และจีนเองก็จะไม่ปิดตลาดแน่นอน
ทั้งนี้ เป๋าโต สตีล แรร์เอิร์ท กรุ๊ป ซึ่งมีฐานการดำเนินงานอยู่ในเมืองเป๋าโตนั้นมีบทบาทที่สำคัญในตลาดแร่ธาตุหายากประเภทเบาทางตอนเหนืองของจีน โดยบริษัทได้ซื้อหุ้นในบริษัทผู้สักดแลแปรรูปแร่ธาตุหายาก 3 แห่งในเมืองกวางโจว มณฑลเจียงซีเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดแร่ธาตุหายากประเภทหนักทางใต้ของจีน
จีนได้ยุติการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่ธาตุหายากรายใหม่เมื่อปี 2549 และได้ปิดกิจการบริษัทเหมืองขนาดเล็กไปแล้วหลายร้อยแห่ง
เมื่อเดือนก.ย. ทางรัฐบาลได้ประกาศร่างนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้สนับสนุนการควบรวมและซื้อกิจการในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนของบริษัทแร่ธาตุหายากลงจากระดับปัจจุบันที่ 90 แห่ง ให้เหลือ 20 แห่งภายในปี 2558
นายหยางกล่าวว่า เมืองเป๋าโต ซึ่งเป็นแหล่งสำรองแร่ธาตุหายากที่ใหญ่สุดของจีนนั้น เคยมีบริษัทผู้ผลิตแร่ธาตุหายากถึง 150 แห่ง แต่ปัจจุบันจำนวนบริษัทเหล่านี้ลดลงเหลือเพียง 18 แห่ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน