กรมสรรพากรประกาศหลักเกณฑ์-เงื่อนไขหนุนจัดตั้งศูนย์ IPC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะผลักดันเสนอเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ในการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (International Procurement Center : IPC) ดังนี้

กรณีคุณสมบัติของผู้จัดตั้งศูนย์ IPC ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป, จดแจ้งการเป็นศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้, วิสาหกิจในเครือในประเทศไทยและในต่างประเทศต้องมีผู้บริหารและพนักงานดำเนินการจริง และมีการประกอบกิจการจริงตามวัตถุประสงค์ของกิจการ หรือตามที่แจ้งไว้กับกรมสรรพากร โดยวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศต้องมีที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ จะต้องมีรายได้ในธุรกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างน้อย 1,000 ล้านบาทต่อปี ภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ 3 นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษี ขณะที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของศูนย์ IPC ที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี(ไม่รวมค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน รายจ่ายในการดำเนินงานที่จ่ายไปต่างประเทศ ค่าวัตถุดิบ ค่าสิทธิ ค่าส่วนประกอบ และค่าบรรจุภัณฑ์) หรือมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของศูนย์ IPC ที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย โดยเป็นการจ่ายเงินจริงในปีนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี(ไม่รวมถึงเงินลงทุนในหลักทรัพย์)

ขณะที่ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างศูนย์ IPC และวิสาหกิจในเครือ จะต้องเป็นราคาตลาด (มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร) โดยคุณสมบัติด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ IPC นั้น พนักงานต้องเป็นผู้มีทักษะและความรู้ขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด, มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานในศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ ไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี เป็นจำนวนอย่างน้อย 3 คน ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปีที่ 3 นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษี

สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น กรมสรรพากรจะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือร้อยละ 15 สำหรับกำไรสุทธิให้แก่ศูนย์ IPC เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรายได้ดังนี้ 1.รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้านอกประเทศไทยให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย(ธุรกรรม Out-Out) 2.รายได้จากการขายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งในต่างประเทศ เพื่อความมุ่งประสงค์ในการผลิตนอกประเทศไทยที่ได้กระทำโดยวิสาหกิจในเครือดังกล่าว(ธุรกรรม In-Out)

ขณะที่การลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ในกรณีศูนย์ IPC มีรายได้จากธุรกรรมตามข้อ 1 และ 2 ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของรายได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์รวมกับรายได้จากการขายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่วิสาหกิจในเครือในประเทศเพื่อการผลิตที่ได้กระทำโดยวิสาหกิจในเครือในประเทศดังกล่าว บุคคลธรรมดาที่ปฏิบัติงานในศูนย์ IPC จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้

1.คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่ได้แจ้งไว้กับกรมสรรพากรจำนวนไม่เกิน 3 คน ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 15 สำหรับเงินได้ เนื่องจากการจ้างแรงงานที่คนต่างด้าวเหล่านั้นได้รับจากการทำงานในศูนย์ IPC เป็นเวลา 5 ปี

2.กรณีที่คนต่างด้าวดังกล่าวถูกส่งไปทำงานในต่างประเทศและศูนย์ IPC (ไทย) ไม่นำเงินได้เหล่านั้นมาหักเป็นรายจ่ายในไทย ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานที่ถูกส่งไปทำงานต่างประเทศ เป็นเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ดี หากศูนย์ IPC มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ข้างต้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้หมดสิทธิการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

นายสาธิต กล่าวว่า มาตรการภาษีนี้เป็นการต่อยอดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค(ROH) ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์แบบ out-out ตามมาตรการภาษีนี้จะไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนน้อยที่บันทึกบัญชีในประเทศไทย ซึ่งการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้จะส่งเสริมให้มีการนำรายได้ในส่วนนี้มาบันทึกบัญชีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แบบ in-out จะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทในเครือในต่างประเทศหันมาใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยการส่งออกของประเทศ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว

"ขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกา และร่างประกาศอธิบดีที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจน อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อย หากมีความคืบหน้าของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเมื่อใด กรมสรรพากรจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบในภายหลังต่อไป" นายสาธิต กล่าว

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ(International Procurement Center : IPC) ที่เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งประกอบกิจการจัดซื้อและขายสินค้านอกประเทศไทยให้แก่วิสาหกิจในเครือ

โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย (ธุรกรรม Out-Out) และประกอบกิจการจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนและขายให้แก่วิสาหกิจในเครือของตนเพื่อความมุ่งประสงค์ในการผลิตนอกประเทศไทยที่ได้กระทำโดยวิสาหกิจในเครือดังกล่าว (ธุรกรรม In-Out) โดยคุณลักษณะที่เหมาะสมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ