ก.ท่องเที่ยว ชงครม.ของบกลาง 1.5 พันลบ. พร้อมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 18:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุม“วิกฤติอุทกภัยกับการท่องเที่ยวและกีฬา" ได้มีมาตรการต่างๆเพื่อเสนอนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศสำหรับพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยโดยขอให้รัฐบาลมีนโยบายดังนี้ 1)ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานต่างๆ จัดการประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ท่องเที่ยว แข่งขันกีฬา และจัดกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมากขึ้น

2)ให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Visa Fee) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติฟรี ในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปี นับตั้งแต่บัดนี้

3)ให้เสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจและผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยการขยายวงเงินกู้/สินเชื่อต่างๆให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวที่วงเงินกู้เต็มวงเงิน ให้สามารถกู้ได้เพิ่มอีก 25-45 เปอร์เซ็นต์จากวงเงินกู้เดิมที่มีอยู่แล้ว

4)ให้ขยายขอบเขตการหักลดหย่อนภาษีให้แก่ร้านค้าและนักท่องเที่ยว ในวงเงิน 15,000.-บาทเดิม ที่ครม.ได้อนุมัติเฉพาะร้านอาหารในโรงแรม เป็นร้านอาหาร/ภัตตาคารทั่วไปในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย สามารถหักค่าลดหย่อนภาษีเพิ่มได้

5)ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานต่างๆ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 1(ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2553) แทนการเร่งเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 4(กรกฏาคม-กันยายน พ.ศ. 2554) นอกจากนี้ ที่ประชุมมีแนวทางการขอการสนับสนุนงบกลางของรัฐบาล เพื่อเสนอรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และครม.จำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท แยกเป็นงบส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย(Promotion) จำนวน 960 ล้านบาท และงบสนับสนุนกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย จำนวน 540 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนสำหรับพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (Product) ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยธรรมชาติอื่นๆ รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สำหรับมาตรการและงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนในครั้งนี้ หากเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 900,000-1,000,000 ล้านบาทต่อปี นับว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง แต่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาล เพียง 10% ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาพรวม ที่มีราวๆ 20,000-30,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ