รมว.คลังเผยเวทีเอเปครับปากไม่แข่งลดค่าเงิน เตือนปท.พัฒนาแล้วดูแลไม่ให้ผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 9, 2010 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 17 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นว่า ที่ประชุมเห็นว่าเขตเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลควรสนับสนุนให้เกิดการออมภายในประเทศ และปรับลดการขาดดุลการคลังเพื่อให้สู่ระดับสมดุลในระยะปานกลาง ส่วนประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลควรลดการพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก และเน้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคจะดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยกลไกตลาด และไม่แข่งขันกันลดค่าเงิน ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าแล้ว ควรระแวดระวังไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากเกินไปหรือเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ

ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private-Partnership: PPP)ว่าเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพ บรรเทาความยากจน และปรับปรุงการเข้าถึงระบบการให้บริการทางสังคมให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เริ่มดำเนินโครงการริเริ่ม APEC Financial Inclusion Initiative เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่ภาครัฐจะสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

รมว.คลัง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และการพัฒนาแหล่งเงินทุนฐานราก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน โดยในด้าน PPP ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อลดระยะเวลาในการขออนุญาต และเห็นว่า สมาชิกเอเปคควรร่วมกันจัดทำกรอบกฎหมายในเรื่องนี้ เพื่อให้มีขั้นตอนการพิจารณาโครงการ PPP ที่สอดคล้องกัน ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนแล้ว ยังช่วยให้สมาชิกมีกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย

ส่วนด้านการพัฒนาแหล่งทุนเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น ได้ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้ว อาทิ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และการสร้างโครงข่ายเงินทุนฐานราก (Microfinance) เป็นต้น จึงสนับสนุนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยองค์กรสำคัญที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ความช่วยเหลือใน 2 เรื่องนี้ก็คือ ธนาคารโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาค โดยได้เน้นความสำคัญต่อการกำหนดแนวนโยบายเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งสมดุลและยั่งยืน ที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกแล้ว แต่มีการฟื้นตัวในระดับที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการฟื้นตัวที่ดีและรวดเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังมีความเสี่ยงในบางประการ อาทิ ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและราคาหลักทรัพย์ การคงอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของเศรษฐกิจ และความไม่สมดุลต่างๆ

สมาชิกเอเปคยืนยันที่จะสนับสนุนการเปิดตลาดและต่อต้านการกีดกันทางการค้า (Protectionsim) พร้อมกับสนับสนุนข้อสรุปของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G20 ครั้งล่าสุด และจะเสริมสร้างความร่วมมือระดับพหุภาคีให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระดับภูมิภาค และแต่ละเขตเศรษฐกิจต้องร่วมมือกันที่จะดำเนินนโยบายเพื่อช่วยลดความไม่สมดุลที่มากเกินไป รวมถึงรักษาระดับความไม่สมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ จะดำเนินการปฏิรูปทางโครงสร้าง และส่งเสริมการสร้างงานต่อไป

ที่ประชุมได้เห็นชอบรายงาน “The Kyoto Report on Growth Strategy and Finance" ซึ่งได้จำแนกความสำคัญของการนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล แบ่งออกเป็น การปรับสมดุลของอุปสงค์โลก การบริหารจัดการด้านการคลังที่เข้มแข็ง และการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมแก่ภาคสำคัญต่างๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ไปจนถึงโครงการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตสีเขียว โดยที่ประชุมจะนำเสนอรายงานดังกล่าวต่อการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อหารือภายใต้หัวข้อ APEC Leaders’ Growth Strategy ในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ รมว.คลังได้มีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งพิจารณาหาแนวทางความร่วมมือทางด้านการเงินในประเด็นต่างๆ อาทิ การสนับสนุนโครงการ PPP และการกำหนดโครงสร้างในการตอบโจทย์เรื่องภาวะโลกร้อน เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยลดภาระด้านงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การชดเชยผ่านระบบประกัน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ