นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติตามที่กระทรวงไอซีทีเสนอ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมประชากรไม่ต่ำกว่า 80% ภายในปี 58 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 63
รวมทั้งให้มีการบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในความเร็วที่ไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ภายในปี 63
รมว.ไอซีที กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ฉบับนี้ คือ 1. ภาครัฐมีเจตนารมย์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างทั่วถึงเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ภายใต้การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
2. ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ได้อย่างเต็มที่, 3. ในการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ รัฐจะบริการจัดการทรัพย์สินด้านโทรคมนาคมที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วและอาจลงทุนเพิ่มเติมโดยการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและไม่ผูกขาดที่จะเป็นผู้ลงทุนในการจัดการให้มีบริการต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีศักยภาพลงทุนเพื่อให้บริการ
4. รัฐจะส่งเสริมให้โครงสร้างและบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมส่วนปลายทาง ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และพาณิชย์อิเล็คทรอนิคส์
"ครม.อนุมัติแผนบรอดแบนด์แห่งชาติแล้ว ซึ่งในหลักการภายใน 5 ปีจะครอบคลุมประชาชนได้ 80% และภายใน 10 ปีจะครอบคลุมได้ 95%"รมว.ไอซีที กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณการดำเนินงานในช่วง 5 ปีแรกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากแผนการลงทุนเดิมของบมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที ที่ได้เคยอนุมัติไว้แล้วเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
รมว.ไอซีที กล่าวว่า นโยบายบรอดแบนด์ยังมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเตือนภัยพิบัติและธรรมชาติ รวมทั้งบริการสาธารณะอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 58 จะมีโรงเรียนระดับตำบลที่สามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ได้ประมาณ 3 หมื่นแห่ง ในขณะที่สาธารณสุขและสถานีอนามัยระดับตำบลจะเข้าถึงได้ประมาณ 1.5 หมื่นแห่ง
นอกจากนี้ นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาตินี้จะส่งผลดีในการช่วยจูงใจให้นักลงทุนจากต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากนโยบายดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้มุ่งหมายที่จะให้นโยบายบรอดแบนด์เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ 5 ของประเทศในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้วย