นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางทางภาคใต้จากสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัย โดยจะให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางพาราในทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งที่เป็นสมาชิกของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และที่ไม่ใช่สมาชิกกองทุนสงเคราะห์ฯ
ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปศึกษาอัตราค่าชดเชยและเยียวยาให้แก่ชาวสวนยาง ว่าตัวเลขที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด แต่เบื้องต้นตั้งตัวเลขเป็นตุ๊กตาไว้ที่ 17,000 บาท/ไร่ ซึ่งคำนวณจากอัตราการช่วยเหลือตามเกณฑ์ของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่ 11,000 บาท/ไร่ บวกกับเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 55% ของ 11,000 บาท รวมแล้วอยู่ที่ 17,000 บาท/ไร่
แต่อย่างไรก็ตาม นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี มองว่าอัตราการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยังต่ำเกินไป จึงขอให้กระทรวงเกษตรกฯกลับไปพิจารณาและนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
ส่วนความช่วยเหลือแก่สวนยางพาราที่ประสบวาตภัย คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับสภาอุตสาหกรรมหาแนวทางในการรับซื้อไม้ยางดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีสวนยางพาราบางส่วนที่ได้รับความเสียหาย แต่เป็นสวนยางที่ผิดกฎหมาย เช่นการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่สมควรปลูก คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยไปหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น คชอ.ได้สรุปตัวเลขความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกยาง มีประมาณ 540,000 ไร่ แบ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย 460,000 ไร่ ความเสียหายที่เกิดจากวาตภัย 52,000 ไร่