Analysis: มาตรการ QE2 ของสหรัฐบดบังบรรยากาศการประชุม G20 ที่เกาหลีใต้

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 9, 2010 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผ้บริหารฝ่ายกำหนดนโยบายของประเทศกลุ่ม G20 เตรียมประชุมร่วมกันที่กรุงโซลในวันนี้ ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาค หลังจากที่สหรัฐประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง หรือ QE2

การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจอัดฉีดเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้จุดกระแสความวิตกกังวลและสร้างความไม่พอใจไปทั่วโลก และอาจทำให้เกิดสงครามค่าเงิน ซึ่งจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการค้าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างล่าช้า

นายจู กวงเหยา รมช.คลังของจีนกล่าวว่า จีนรู้สึกกังวลและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการ QE2 ของสหรัฐ และกล่าวว่าจีนจะหารือเรื่องนี้กับสหรัฐอย่างตรงไปตรงมาในที่ประชุมสุดยอด G20 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้

มาตรการ QE2 ที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าเป็นเหมือน "เฮลิคอปเตอร์ที่โปรยเงินดอลลาร์"นั้น คาดกันว่า จะช่วยให้สหรัฐคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวก็ถูกกระหน่ำด้วยกระแสการวิพาษ์วิจารณ์จากทั่วโลกว่าอาจทำให้เกิดสงครามค่าเงิน และทำให้เกิดการเทขายสกุลเงินดอลลาร์อย่างหนักในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

ไรเนอร์ บรูเอเดอร์ รมว.เศรษฐกิจเยอรมนีกล่าวให้สัมภาณ์กับหนังสือพิมพ์ Welt am Sonntag ของเยอรมนีว่า "การที่สหรัฐใช้มาตรการ QE2 ทำให้ผมรู้สึกกังวลใจมาก เพราะการที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นมากเกินไปถือเป็นการปั่นค่าเงินดอลลาร์ทางอ้อมรูปแบบหนึ่ง"

ด้านนายวูล์ฟกัง ชูเบิล รมว.คลังเยอรมนีกล่าวกับหนังสือพิมพ์ Der Spiegel ของเยอรมนีว่า "ดูเป็นเรื่องที่ไปกันไม่ได้เลยเมื่อสหรัฐกล่าวหาจีนว่าปั่นค่าเงินหยวน และหลังจากนั้นสหรัฐก็ฉุดค่าเงินดอลลาร์ด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ"

"ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ผมรู้สึกว่าสหรัฐมีแต่เสียกับเสีย" ชูเบิลกล่าว พร้อมกับเตือนว่า การอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ระบบของเฟดจะ "สร้างปัญหาให้กับทั่วโลก และนำไปสู่ความเสียหายในระยะยาว"

ส่วนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า กระแสเงินสดของนักลงทุนที่มีปริมาณมากจนไม่สามารถควบคุมได้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ

ดมิทรี แพนคิน รมช.คลังรัสเซียกล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่เฟดนำมาใช้ล่าสุดเป็นสิ่งที่อันตราย

แพนคินเตือนว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอาจนำไปสู่ "ภาวะฟองสบู่ด้านการเงิน" และทำให้อัตรแลกเปลี่ยนอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเงินเยนของญี่ปุ่น

"ไม่ใช่สหรัฐ แต่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อาจได้รับผลกระทบ" แพนคินกล่าว

นายพราวิน กอร์ฮาน รมว.คลังแอฟริกาใต้กล่าวว่า การตัดสินใจใช้มาตรการ QE2 ของเฟดได้ส่งผลกระทบต่อเจตนารมณ์ในการร่วมมือในระดับพหุภาคีที่ผู้นำกลุ่ม G20 พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะรักษาเอาไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของที่ประชุมรมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G20 ที่เพิ่งจัดขึ้นที่เกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้

"กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงแอฟริกาใต้จะต้องรับมือกับการตัดสินใจอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศอื่นๆ" นายกอร์ฮานกล่าว

แม้เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดอ้างว่า "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ" จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาและสร้างงานในสหรัฐ และผลกระทบที่ทั่วโลกได้รับจากมาตรการดังกล่าวก็ไม่อาจเพิกเฉยได้ เพราะมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบที่เกินขีดจำกัด หรือแม้แต่สร้างหายนะให้กับประเทศอื่นๆได้

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ขาดความรับผิดชอบของสมาชิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในกลุ่ม G20 จะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อบทบาทของกลุ่ม G20 ในฐานะแกนนำความร่วมมือทางเศรษฐกิจของโลก

ในขณะที่สหรัฐกำลังทำให้ทั่วโลกสั่นคลอนด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มอย่างเต็มพิกัดนั้น การกระทำดังกล่าวก็ทำให้ทั่วโลกนึกถึงวรรคทองของ จอห์น คอนแนลลี อดีตรมว.คลังในยุคของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่กล่าวไว้เมื่อปี 2514 ว่า "ดอลลาร์เป็นเงินของเรา แต่เป็นปัญหาของคุณ" สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ