นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเรียกประชุมหารือสำหรับการช่วยเหลือในส่วนของภาคใต้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและวาตภัยเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ ครอบครัวละ 5,000 บาท และให้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์สวนยาง เพื่อจะสรุปข้อมูลที่ได้จากการหารือเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนกรณีพื้นที่ปลูกยางพาราผิดกฎหมาย ในพื้นที่ป่า หรือที่นา กระทรวงเกษตรฯ จะหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาสรุปแนวทางการช่วยเหลือและนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านประมง หลักการเบื้องต้นจะรวบรวมประเด็นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพประมงที่ประสบภัยธรณีพิบัติใน 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2548
แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาปรับฐานความช่วยเหลือตามดัชนีอุตสาหกรรมปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20% และช่วยเหลือเรือประมงให้ครอบคลุมไม่ว่าจะมีอาชญาบัตรหรือไม่ก็ตาม ส่วนการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กรณีที่กู้เรือและซ่อมแซมแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอใช้แหล่งเงินทุนของรัฐในลักษณะเป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำหรือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ต่อไป
ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งประเทศ จำนวน 26 จังหวัด สร้างความเสียหายทางด้านการเกษตร แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์
ด้านพืช แบ่งเป็น 3 ช่วงภัย ได้แก่ ช่วงภัย วันที่ 1 ส.ค.- 30 ก.ย.2553 ข้อมูล ณ วันที่ 22 ต.ค.2553 ประสบภัย 54 จังหวัด คาดว่าจะเสียหาย 2,757,236 ไร่ ได้ดำเนินการสำรวจแล้ว ณ วันที่ 4 พ.ย.53 พบว่าเสียหายแล้ว 868,225 ไร่ แบ่งออกเป็น ข้าว 778,640 ไร่ พืชไร่ 77,385 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 12,539 ไร่ เกษตรกร 101,745 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 555.77 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วยเหลือแล้ว 87.48 ล้านบาท เงินท้องถิ่น เงินทดรองราชการอำเภอ และจังหวัด 80.81 ล้านบาท เงินทดรองราชการปลัดกระทรวงเกษตรฯ 6.67 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอรับการช่วยเหลือ 468.29 ล้านบาท
ช่วงภัยวันที่ 1 ต.ค. — 4 พ.ย.2553 ยกเว้น ภาคใต้ ประสบภัย 46 จังหวัด คาดว่าจะเสียหาย 6,829,585 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 5,122,680 พืชไร่ 1,521,772 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 185,133 ไร่ เกษตรกร 543,326 ราย
ช่วงภัยวันที่ 1 พ.ย.2553 ถึง ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ย.53 เฉพาะภาคใต้ ประสบภัย จำนวน 10 จังหวัด คาดว่าจะเสียหาย 640,164 ไร่ แยกเป็น ข้าว 296,516 พืชไร่ 33,935 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 309,713 ไร่ เกษตรกร 263,216 ราย
ความเสียหายด้านประมง แบ่งเป็นความเสียหายเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเรือประมง ดังนี้
โดยพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มี 2 ช่วงภัย คือ วันที่ 1 ส.ค.2553 - 5 พ.ย.2553 ยกเว้นภาคใต้ ประสบภัยทั้งสิ้น 56 จังหวัด พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่าจะเสียหาย 104,797 ไร่ และกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ 90,437 ตารางเมตร เกษตรกร 62,480 ราย ได้ดำเนินการสำรวจแล้ว ณ วันที่ 29 ต.ค. 2553 พบว่าพื้นที่เพาะเลี้ยงเสียหายแล้ว 9,496 ไร่ และ 10,267 ตารางเมตร คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 31.65 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วยเหลือแล้ว 17.92 ล้านบาท โดยเป็นเงินท้องถิ่น เงินทดรองราชการอำเภอและจังหวัด 12.84 ล้านบาท เงินทดรองราชการปลัดกระทรวงเกษตรฯ 5.08 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอรับการช่วยเหลือ 13.73 ล้านบาท
ช่วงภัยวันที่ 1 พ.ย. 2553 ถึง ปัจจุบัน เฉพาะภาคใต้ ประสบภัย จำนวน 7 จังหวัด พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 8,562 ไร่ และกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ 47,086 ตารางเมตร เกษตรกร 7,665 ราย
เรือประมง ช่วงระหว่าง วันที่ 1 ส.ค.— 5 พ.ย.2553 ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ย.2553 ประสบภัยพิบัติทั้งสิ้น 11 จังหวัด จำนวนเรือ 581 ลำ แบ่งเป็น เรือประมงพานิช 58 ลำ เรือประมงพื้นบ้าน 523 ลำ
ความเสียหายด้านปศุสัตว์ แบ่งเป็น 2 ช่วงภัย ได้แก่ ช่วงภัย วันที่ 1 ส.ค.2553 - 5 พ.ย.2553 ข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ย. 2553 ยกเว้นภาคใต้ ประสบภัยทั้งสิ้น 40 จังหวัด คาดว่าจะเสียหาย เกษตรกร 131,355 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 17,014,030 ตัว
ช่วงภัยวันที่ 1 พ.ย.2553 ถึง ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ย.2553 เฉพาะภาคใต้ ประสบภัย จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี นราธิวาส สงขลา กระบี่ ยะลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะเสียหาย เกษตรกร 96,744 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,646,473 ตัว