ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาตรการกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(Loan to Value:LTV ratio)สำหรับการให้สินเชื่อหรือให้เงินกู้ยืมเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 10 ล้านบาทลงมา
ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวสูง หรือ คอนโดมิเนียม กำหนด LTV ที่ 90% ซึ่งมีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่ 1 ม.ค.54 ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ กำหนด LTV ที่ 95% มีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่ 1 ม.ค.55 ยกเว้นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพราะมีการหักเงินเดือนและมีความมั่นคงของตำแหน่งหน้าที่การงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะห้ามปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกินระดับดังกล่าว แต่หากธนาคารพาณิชข์ปล่อยสินเชื่อเกินระดับที่กำหนด ก็จะต้องมีเงินกองทุนรองรับเพิ่มขึ้น
นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงทีอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้หมายความว่าเห็นสัญญาณฟองสบุ่แล้ว
"เป็นมาตรการที่ออกมาต่อเนื่อง เพราะจากภาวะเศรษฐกิจดี การค้าขายดี ดังนั้นเราจะไม่ฉีดวัคซีนกับคนที่ป่วยอยุ่แล้ว ไม่ได้บังคับให้วิ่งเมื่อตอนป่วย ให้วิ่งตอนนี้เพื่อสุขภาพของเขา"นายเกริก กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลที่หารือกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ตั้งแต่ต้นปี-ก.ย.53 ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ ซึ่งตรงกันกับข้อมูลของ ธปท.