2 สำนักวิจัยระดับโลกชี้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดีจากปริมาณผลผลิตลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 12, 2010 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยระดับโลก 2 แห่ง คือ ฟาสต์ มาร์เก็ต รีเสิร์ช และ รีเสิร์ช แอนด์ มาร์เก็ต ชี้ธุรกิจการเกษตรไทยยังโตต่อเนื่อง เป็นผลจากการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ยังคงขยายตัว ถึงแม้จะไม่มากนัก แต่ก็ได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น

แนวการวิเคราะห์ดังกล่าวสอดคล้องกับกรมเศรษฐกิจการเกษตรที่เชื่อว่า เศรษฐกิจการเกษตรปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.2 - 3.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งชะลอตัวจากที่ได้คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีว่าภาคเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ทั้งนี้เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และโรคแมลงศัตรูพืชระบาด ทาให้มีการเลื่อนการปลูกข้าวนาปีและปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น

ส่วนสถานการณ์ด้านราคา คาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าบางชนิด เช่น ข้าว อาจจะได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จะทำให้การส่งออกชะลอตัว

นอกจากนี้ ในปีหน้าจะได้เห็นบริษัทการเกษตรไทยขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ซึ่งจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา และได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการส่งออกหลายๆ ประการ เช่น การไปลงทุนจัดตั้งบริษัท น้ำตาล มิตรลาว จำกัด มูลค่ากว่า 2.3 พันบ้านบาทของกลุ่มมิตรผลเมื่อปี 2552 เพื่อการส่งออกน้ำตาลไปยังยุโรป โดยในปี 2553 มิตรผลก็ได้จัดงบอีกว่า 1.65 พันล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่การปลูกอ้อยและขยายกำลังการผลิตน้ำตาลในลาว โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 120,000 ตันในปี 2554 ในทำนองเดียวกันกลุ่มน้ำตาลขอนแก่นก็ได้มีการขยายการลงทุนไปยังประเทศกัมพูชาเช่นกัน

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะผักและผลไม้ไทยยังมีแนวโน้มที่สดใส เพราะประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องความหลากหลาย แต่สิ่งที่เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญคือ เรื่องมาตรฐานและคุณภาพสินค้า รวมไปถึงเรื่องการตัดราคา เพราะจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตรวมทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมภาคธุรกิจการเกษตรของไทยก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในหลายสาขา สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าร่วม 14,000 ล้านบาทในปี 2553 ด้วยเหตุนี้ทั้งภาครัฐแลภาคเอกชนก็ต้องหันมาให้ความสำคัญและจัดระบบการบริหารและจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสรรหาเทคโนโลยีด้านการชลประทานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาใช้

ในส่วนของการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน แม้ว้าจะเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจและการขยายตลาดให้กว้างขึ้น ด้วยจำนวนประชากรร่วม 600 ล้านคน แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน เพื่อให้คุณภาพและราคาสินค้าสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาค หรือแม้แต่ระดับโลก

การเข้าใจแนวโน้มของธุรกิจและทิศทางของเทคโนโลยีการเกษตรจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว เตรียมพร้อม และรับมือกับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ