(เพิ่มเติม) ธปท.ประกาศเกณฑ์ LTV สินเชื่ออสังหาฯ คอนโดฯ-แนวราบ ป้องกันปัญหาในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 12, 2010 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาตรการกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(Loan to Value:LTV ratio)สำหรับการให้สินเชื่อหรือให้เงินกู้ยืมเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 10 ล้านบาทลงมา

ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวสูง หรือ คอนโดมิเนียม กำหนด LTV ที่ 90% ซึ่งมีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่ 1 ม.ค.54 ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ กำหนด LTV ที่ 95% มีผลใช้เฉพาะสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำตั้งแต่ 1 ม.ค.55 ยกเว้นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพราะมีการหักเงินเดือนและมีความมั่นคงของตำแหน่งหน้าที่การงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะห้ามปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกินระดับดังกล่าว แต่หากธนาคารพาณิชข์ปล่อยสินเชื่อเกินระดับที่กำหนด ก็จะต้องมีเงินกองทุนรองรับเพิ่มขึ้น

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้หมายความว่าเห็นสัญญาณฟองสบุ่แล้ว

"เป็นมาตรการที่ออกมาต่อเนื่อง เพราะจากภาวะเศรษฐกิจดี การค้าขายดี ดังนั้นเราจะไม่ฉีดวัคซีนกับคนที่ป่วยอยุ่แล้ว ไม่ได้บังคับให้วิ่งเมื่อตอนป่วย ให้วิ่งตอนนี้เพื่อสุขภาพของเขา"นายเกริก กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลที่หารือกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ตั้งแต่ต้นปี-ก.ย.53 ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ ซึ่งตรงกันกับข้อมูลของ ธปท.

นายเกริก กล่าวว่า มาตรการที่ธปท.ออกไปไม่ได้ห้ามให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินปล่อยกู้เกินระดับดังกล่าว เพียงแต่ต้องมีเงินกองทุนที่สูงขึ้น ขณะนี้ BIS ทั้งระบบอยู่ที่ 17% Tier 1 อยุ่ที่ 13% เพราะฉะนั้นยังมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพาณิชย์เห็นลูกค้ามีความเสี่ยงต่ำก็สามารถปล่อยกู้ได้มากกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด เพราะฉะนั้นแล้วไม่ได้เป็นมาตรการที่เข้มงวด

"แบงก์เวลาปล่อยสินเชื่อจะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อและเงินกองทุนด้วย จะต้องคิดมากขึ้น กลายเป็นความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อขึ้นได้" นายเกริก กล่าว

นายเกริก กล่าวต่อว่า ขณะนี้การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีพฤติกรรมการแข่งขันรุนแรงมาก หากเกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้หมดวินัย กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน รวมถึง ภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น คนซื้อบ้านในราคาแพงขึ้น เพราะค่าเฉลี่ยการกู้ที่อยู่อาศัยยังต่ำ แต่การปล่อยกู้เป็น floating rate ที่ประมาณ 5% ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% เท่ากับต้องจ่ายดอกเบี้ย 20% และหากดอกเบี้ยขึ้น 2% ต้องจ่ายเท่ากับ 40% ดังนั้นมาตรการที่ออกมาต้องดูแลผลกระทบที่มีต่อหนี้ภาคครัวเรือนด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีที่จะออกมาตรการ เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์กำลังเริ่มจะทำแผนปี 54 ดังนั้น ถ้าออกในช่วงนี้จะมีการปรับตัวได้ง่ายกว่าถ้าไปออกมาตรการตอนที่วางแผนไปแล้ว

นายเกริก กล่าวว่า ห่วงเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพราะปริมาณบ้านมากกว่าคนซื้อ หากดอกเบี้ยปรับขึ้นแล้วคนตกงานก็จะเกิดปัญหา แต่ในยามปกติฉีดยาเล็กน้อยก็ไม่เสียหายอะไร

"ธปท.ห่วงตัวเลขบ้านสร้างเสร็จอย่างมาก เพราะว่าตอนนี้แม้ว่าความต้องการซื้อและจำนวนบ้านยังดีอยู่ แต่ว่าจำนวนบ้านทั้งประเทศ ไม่ได้แยกเป็นสร้างเสร็จหรือบ้านมือสอง ตรงนี้ยังมีบ้านมือสองค้างที่ขายไม่ออก คงค้างกันอยู่แยกไม่ได้" นายเกริก กล่าว

แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นประชาชนยังดีอยู่ และ แม้จะออกมาตรการมา แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเติบโตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ