Analysis: วิกฤตหนี้ไอร์แลนด์ส่อเค้าเป็นวาระสำคัญของการประชุมรมว.คลังสหภาพยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Monday November 15, 2010 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมเปิดประชุมรายเดือนในวันอังคารที่ 16 พ.ย.นี้นั้น คาดว่า วิกฤตหนี้สาธารณะของไอร์แลนด์อาจเป็นวาระหลักของการประชุมในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวกำลังทำให้หลายฝ่ายจับตาดูว่าไอร์แลนด์จะขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการลุกลามของวิกฤตการเงินหรือไม่

ทั้งนี้มีรายงานว่า การเจรจาเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์ระหว่างเจ้าหน้าที่อียูและรัฐบาลไอร์แลนด์ยังคงดำเนินต่อไป แม้ทางไอร์แลนด์ปฏิเสธว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินสดแบบเร่งด่วนก็ตาม

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไอร์แลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 9% เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการใช้สกุลเงินยูโรในปี 2542 ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินจากตลาดการเงินของรัฐบาลไอร์แลนด์ปรับตัวพุ่งขึ้นอีก ขณะเดียวกันมีกระแสความวิตกกังวลว่า ไอร์แลนด์อาจจะเผชิญปัญหาเหมือนกับกรีซ และวิกฤตหนี้สาธารณะรอบใหม่อาจแผ่ขยายวงกว้าง ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในกลุ่มยูโรโซน เช่นสเปนและโปรตุเกส หดตัวลงด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไอร์แลนด์ย้ำว่า รัฐบาลยังสามารถรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งไปจนถึงช่วงกลางปี 2554 และปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือจากสำนักงานกำกับเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยกลุ่มยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้กรีซลุกลามไปทั่วยุโรป

ด้านกลุ่มผู้นำอียูได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นต่อไอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆในยุโรป พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทันทีที่ไอร์แลนด์ร้องขอ โดยนายโฮเซ่ มานูเอล บาร์รอสโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อียูพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์

"ขอให้มั่นใจว่า สหภาพยุโรปและกลุ่มยูโรโซนมีเครื่องมือที่จำเป็นทุกด้านพร้อมอยู่แล้วในขณะนี้ เพื่อสนับสนุนไอร์แลนด์หากเห็นว่าจำเป็น แต่ผมจะยังไม่คาดการณ์ใดๆในขณะนี้" บาร์รอสโซกล่าว

รัฐมนตรีคลังจากเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่กรุงโซล เพื่อพยายามสยบกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในไอร์แลนด์ โดยระบุว่า แผนการผลักดันให้นักลงทุนมีส่วนร่วมในการแบกรับต้นทุนการให้ความช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์นั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการการจัดการหนี้สาธารณะในปัจจุบัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในตลาดส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำกล่าวของนางแองเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีซึ่งยืนกรานมาโดยตลอดว่า นักลงทุนไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการให้ความช่วยเหลือในภาคธนาคาร และประชาชนผู้เสียภาษีไม่ควรต้องแบกภาระต้นทุนของการลงทุนที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

"เราไม่สามารถอธิบายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชนของเรารับรู้ได้ตลอดเวลาว่าเพราะเหตุใดผู้เสียภาษีจึงต้องแบกภาระต้นทุนความเสี่ยง และทำไมผู้ที่มีรายได้มากมายจึงไม่ต้องมาร่วมรับความเสี่ยงเหล่านี้" แมร์เคลกล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่กรุงโซล

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดมีปฏิกริยาทันทีต่อการแสดงความเห็นของนางแมร์เคล เพราะแมร์เคลอ้างถึงกลไกการแก้วิกฤตการณ์แบบถาวรที่คาดว่าจะมีการจัดตั้งภายหลังจากกลไกการให้ความช่วยเหลือในปัจจุบันหมดอายุลงในปี 2556 ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่วิกฤตหนี้สาธารณะของไอร์แลนด์จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มอียู เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปนและโปรตุเกสพุ่งขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

วิกฤตหนี้สาธารณะของไอร์แลนด์ถูกจับตามองมาตั้งแต่เดือนก.ย. หลังจากรัฐบาลไอร์แลนด์ประกาศว่าอาจจะต้องอัดฉีดเงินจำนวน 3.43 หมื่นล้านยูโร (4.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าไปพยุงกิจการธนาคารแองโกล-ไอริชแบงค์ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณของไอร์แลนด์ในปี 2553 พุ่งขึ้นเป็น 32% ของตัวเลขจีดีพี จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 11%

นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการว่า ต้นทุนโดยรวมในการให้ความช่วยเหลือภาคธนาคารของไอร์แลนด์อาจพุ่งสูงถึง 5 หมื่นล้านยูโร (6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจุดปะทุให้เกิดความวิตกกังวลว่าไอร์แลนด์อาจเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหนี้

บทวิเคราะห์โดย หลิว เสี่ยวหยาน จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ