Analysis: วิสัยทัศน์เอเปค: พิมพ์เขียวที่ปฏิบัติได้จริงหรือความมุ่งมาดปรารถนาในอุดมคติ?

ข่าวต่างประเทศ Monday November 15, 2010 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้นำเอเชีย-แปซิฟิคได้ให้การรับรองโร้ดแมพที่มีเป้าหมายยกระดับการผนึกรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการผลักดันให้แนวคิดในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคให้บรรลุผล

ไม่มีใครตั้งข้อกังขาในเรื่องที่ว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกำลังแบกรับภาระในการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เพราะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นคิดเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกประมาณ 53% และสัดส่วนของการค้าโลกประมาณ 44% นักวิเคราะห์บางรายมองเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกันเมื่อพิจารณาในแง่ของวิสัยทัศน์เรื่องเขตการค้าเสรีของเอเปค

ความฝันของเอเปค

เป้าหมายของเอเปคในการจัดตั้งเขตการค้าที่เสรีและเปิดกว้างในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกกลุ่ม 21 ประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของความมุ่งมั่นแบบที่ไม่มีข้อผูกมัด เพื่อเป้าหมายที่จะเปิดตลาดและรับมือกับแนวคิดเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองนั้น มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ก็จริง แต่เป้าหมายดังกล่าวก็อาจจะทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันในกลุ่มได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศต่างๆในภูมิภาคต้องหาทางผลักดันเศรษฐกิจให้อยู่รอดปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจขาลง ฟิลิป แมคนีล ผู้เขียนและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจการในเอเชียตะวันออกระบุ

แมคนีลกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวภายหลังจากที่ผู้นำเอเปคได้ออกประกาศร่วมในช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ว่า ตามทฤษฎีแล้ว แนวคิดของเอเปคเรื่องการค้าเสรีในภูมิภาคนั้นถือเป็นแนวคิดที่ดีมาก และยังมีบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆที่มีความแตกต่างกันในการบรรลุเป้าหมายของที่ประชุมรอบโบกอร์

"อย่างไรก็ดีเอเชียแปซิฟิคยังคงต้องรับมือกับผลกระทบจากภาวะถดถอย และมีแนวโน้มที่จะถูกกระทบจากภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเศรษฐกิจบางประเทศจะฟื้นตัวเร็วกว่าหลายประเทศ การฟื้นตัวหมายความถึงเศรษฐกิจที่เข้าสู่ระยะฟื้นตัวและเคลื่อนไหวในระยะดังกล่าวไปจนกว่าเศรษฐกิจในประเทศต่างๆทั่วโลกจะฟื้นตัวขึ้นพร้อมๆกัน โดยประเทศต่างๆในที่นี้นับรวมถึงประเทศในกลุ่มแปซิฟิคที่พยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเป็นอันดับแรก"

ในทางตรงกันข้าม ผู้นำเอเปคได้ชื่นชมกับแนวโน้มของการขยายตัวในภูมิภาค และเห็นชอบว่า การผนวกรวมทางด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือในรูปแบบของ Free Trade Area of the Asia- Pacific (FTAAP) นั้น สามารถบรรลุผลได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น การจัดตั้งเขตการค้าที่เปิดกว้างและโปร่งใสในขณะที่บางประเทศมีจุดยืนและจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ตรงกันข้ามนั้น ก็อาจส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงฝันลมๆแล้งๆก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น การผลักดันให้นานาประเทศต่อต้านกับลัทธิการปกป้องผลประโยชน์เพื่อตนเองนั้น แทบจะเหมือนกับการบอกให้เด็กเล็กที่กำลังหิวต้องมาแบ่งปันอาหารของตนเองกับผู้อื่น

แมคนีล กล่าวต่อไปว่า เราไม่อาจแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอีกซีกโลกหนึ่งของโลกนั้น จะไม่ส่งผลกระทบใดๆกับเศรษฐกิจของเอเชีย คงไม่มีใครเสแสร้างได้ขนาดนั้น ยูโรโซนเองก็มีปัญหาหนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และมีแนวโน้มว่า จะแพร่กระจายไปในภูมิภาค ซึ่งสามารถดูตัวอย่างได้จากสถานการณ์ในประเทศไอร์แลนด์และสเปน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองที่ยังติดๆขัดๆอยู่

แมคนีลกล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะแล้ว จะเห็นได้ถึงความขัดแย้งทางการทูตที่ยังยื้ดเยื้อในกลุ่มเอเปค รวมถึงเรื่องเขตแดนและมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับค่าเงิน ตั้งแต่เรื่องการเข้าไปแทรกแซงตลาดของญี่ปุ่นเพื่อฉุดเงินเยนให้อ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออก ขณะที่ดีมานด์ในประเทศหดตัว การใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐที่จะมีการทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งข้ออ้างที่ว่า ค่าเงินของจีนนั้นต่ำเกินจริง

ขณะที่ประเทศสมาชิกเอเปคหลายประเทศพยายามที่จะปัดประเด็นต่างๆออกไป โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของกลุ่มในการประชุม G-20 ที่กรุงโซล เพื่อสมานฉันท์และผนึกเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้เป้าหมายที่จะกระตุ้นการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ด้วยการให้คำมั่นว่าจะลดข้อบังคับที่เข้มงวดและระบบราชการลงแต่ประเด็นเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และยังคงเป็นประเด็นสำคัญ

จุดสูงสุดของความฝัน

ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความมุ่งมั่นและยืนหยัดในเรื่องต่างๆของเอเปค รวมทั้งเป้าหมายของประเทศสมาชิกที่ได้มีการสรุปในการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น สามารถสะท้อนถึงเป้าหมายต่างๆได้ก็จริง แต่ดูเหมือนว่า จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามที่น่ายกย่อง

สิ่งที่น่ายกย่องก็คือ ความพยายามของโอเปคในการผลักดันให้ประเทศสมาชิกกระชับความสัมพันธ์ และผลักดันแนวคิดต่างๆให้บรรลุผลตามเป้าหมายในเรื่องต่างๆ เช่น การขยายตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการใช้วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายจัดตั้ง FTAA กับกลุ่มอาเซียนบวกสาม และทรานส์-แปซิฟิค พาร์ทเนอร์ชิป (TPP) ที่แข่งกันเพื่อที่จะขึ้นครองอำนาจนั้น ประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้น แผนการที่เป็นรูปธรรมใดๆก็อาจจะเกิดขึ้นในการเจรจาระดับทวิภาคีและการทูตที่ดีเท่านั้น ขณะที่บรรยากาศทางการทูตในภูมิภาคนั้นเรียกได้ว่า ยังห่างไกลจากคำว่าเป็นกันเอง ดังนั้นการนำวิสัยทัศน์ของกลุ่มเอเปคมาปฏิบัติจริงนั้น อาจจะช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำบางรายให้กระเตื้องขึ้นมาได้เพียงน้อยนิดขึ้นบ้างก็เท่านั้น

เอกอัครราชทูตมูฮัมหมัด นูร์ กรรมการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปคกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า เอเปคกำลังพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง เพราะนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว นอกจากนี้ เอเปคก็ยังมองไปถึงอนาคต ด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ด้านการเติบโต ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มีเป้าหมายไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล ครอบคลุม ยั่งยืนสร้างสรรค์ และมั่นคง

ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า โร้ดแมพเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความร่วมมือ ความสมดุล และสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาและการปรับปรุงความสัมพันธ์พหุภาคีในภูมิภาค คงจะเป็นเพียงแค่สิ่งที่ดีเพียงแค่นั้น

เทรุฮิสะ มูรามัตสึ นักวิเคราะห์และนักสงคมศาสตร์ กล่าวกับซินหัวว่า เมื่อมองในมุมที่เอเปคนำเสนอแล้วถือเป็นแนวทางที่เป็นบวกและสร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในอนาคต

"ในขณะที่ภูมิภาคเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของแนวโน้มการเติบโตที่น่าประหลาดใจ พิมพ์เขียวของเอเปคสำหรับประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนานั้นคงจะถูกนำออกมาป่าวประกาศเพียงแค่นั้น แม้ว่าเนื้อหาบางส่วนจะดูคล้ายกับความฝัน แต่ก็หวังว่า เมื่อมองย้อนหลังกลับไปในช่วง 20 ปีหลังจากนี้ ก็คงจะเห็นว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของแปซิฟิคริมนั้นฟูเฟื่อง และจำได้ว่าได้มีการสรุปเรื่องราวต่างๆกันในการประชุมที่จัดขึ้นที่เมืองโยโกฮาม่า" นักวิเคราะห์กล่าว

วิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่มเอเปคนั้น ครอบคลุมถึงเรื่องยุทธศาสตร์การขยายตัว การพุ่งเป้าไปที่สร้างเครือข่ายการค้าแบบเสรีในภูมิภาค การรวบรวมแผนการจำนวนมากที่แตกยอดออกไป ตั้งแต่การปฏิรูปในระดับโครงสร้างและความมั่นคงของมนุษย์ ไปจนถึงทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนานวัตกรรมและการทำธุรกิจ

กลุ่มเอเปคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า โดยในการประชุมสุดยอดที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2547 ที่ประชุมได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการค้าที่เสรีและเปิดกว้างสำหรับประเทศอุตสาหกรรมภายในปีนี้ และเพื่อประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2563

กลุ่มเอเปคประกอบด้วยออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย ไต้หวัน สหรัฐ และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 7 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ