นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่ควรต้องเฝ้าระวังภายหลังน้ำลดในขณะนี้ คือการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย สำหรับโรคข้าวที่มักพบภายหลังจากน้ำลด คือ โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีหมอกและน้ำค้างมาก ประกอบกับดินมีความอุดมสมบูรณ์จากน้ำท่วม ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคได้กับข้าวทุกระยะการเจริญเติบโต
ส่วนหนอนกระทู้กล้าและหนอนกระทู้คอรวง จะพบการทำลายเกิดขึ้นในเวลากลางคืนโดยหนอนกระทู้กล้าจะเข้าทำลายต้นข้าวตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะแตกกออาจจะสร้างความเสียหายได้ภายใน 1-2 วัน ส่วนในช่วงข้าวออกรวง หนอนกระทู้คอรวงจะชอบกัดกินคอรวงหรือ ระแง้ของรวง ในระยะสุกแก่ ทำให้คอรวงขาด
สำหรับมาตรการในการเร่งฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กรมการข้าวได้เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวจากโครงการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงไว้ให้กับเกษตรกรที่มีที่นาเสียหายจากอุทกภัยดังกล่าวแล้ว
ล่าสุด กรมการข้าวจึงขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำในการปลูกข้าวหลังน้ำลด ดังนี้ ภายหลังจากน้ำลดดินจะมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจากการพัดพาเอาตะกอนดินมากองหน้าดินจึงไม่ต้องใช้ปุ๋ยมากในการปลูกข้าว, เริ่มปลูกข้าวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งท้องและออกดอกในช่วงอากาศหนาวในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีผลให้ข้าวลีบ
ควรปล่อยให้เมล็ดวัชพืชหรือเมล็ดข้าวที่ตกค้างอยู่ในดินจากฤดูที่ผ่านมา งอกขึ้นก่อนแล้วจึงไถทำลายในขั้นตอนการเตรียมดิน จะสามารถลดปริมาณข้าววัชพืช/ข้าวเรื้อจากฤดูปลูกที่ผ่านมาลงไปได้มาก, หลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ทนต่อสภาวะอากาศหนาว เช่นพิษณุโลก 2 กข29 กข41เป็นต้น
ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหลังน้ำลดในเขตพื้นที่ชลประทาน ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ได้แก่ข้าวพันธุ์ กข31 กข39 กข43 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 90 และบางแตน ภาคใต้ ได้แก่ข้าวพันธุ์ กข37 ชัยนาท 1 และพิษณุโลก 2
ส่วนพันธุ์ข้าวที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกฤดูหนาวในเขตพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น เป็นข้าวอายุสั้น ได้แก่ กข43 สุพรรณบุรี 2 และ บางแตน โดยข้าวทั้ง 3 พันธุ์นี้ มีอายุการเก็บเกี่ยว 97-98 วัน ในนาหว่านน้ำตม ซึ่งต้องมีน้ำเพียงพออย่างน้อยสามารถหล่อเลี้ยงต้นข้าวจนมีอายุ 80-87 วัน หรือมีน้ำประมาณ 2 เดือนกว่าๆ จึงจะสามารถปลูกได้