(แก้ไข) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยแนวโน้มราคาข้าวในปท.สูงขึ้นตามดัชนีราคาล่าสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 16, 2010 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนตุลาคม 2553เท่ากับ 193.55 เพิ่มขึ้นจาก 191.02 ในเดือนกันยายน 2553 หรือเพิ่มขึ้น 1.3% และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 28.0%

"ดัชนีราคาข้าวเริ่มวกกลับมาเป็นขาขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดน้อย และความกังวลต่อปริมาณข้าวจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทั้งในประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้า"นางภคอร ทิพยธนเดชา ผู้จัดการฝ่ายสายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าว

ขณะที่ ดัชนีราคาขายส่งข้าว(ราคาหน้าโรงสี)ในเดือนตุลาคม 2553 เท่ากับ 171.22 ลดลงจาก 173.46 ในเดือนกันยายน 2553 หรือลดลง 1.3% และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 12.4%

ดัชนีราคาขายส่งข้าวแกว่งตัวรุนแรงกว่าราคาเกษตรกรขายได้ ปัจจัยสำคัญคือ การรับซื้อข้าวของผู้ส่งออกเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ

ส่วนดัชนีราคาข้าวส่งออกในเดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 143.79 เมื่อเทียบกับ 142.83 ในเดือนกันยายน 2553 หรือเพิ่มขึ้น 0.7% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้น 12.5%

ดัชนีราคาส่งออกข้าวเป็นดัชนีชี้นำราคาข้าวในประเทศ ดังนั้น แนวโน้มราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดตัว “ดัชนีราคาข้าว" (KR Price Index : Rice) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยดัชนีราคาข้าวนี้มีจุดเด่น คือ เป็นการคำนวณถ่วงน้ำหนักตามประเภทข้าว ซึ่งจะสะท้อนภาวะตลาดข้าวได้ชัดเจนขึ้น ดัชนีครอบคลุมตลอดทั้ง Supply Chain ของข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจะประกอบไปด้วยดัชนีราคาเกษตรกรขายได้ ดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ ทำให้ได้ภาพครอบคลุมครบถ้วน

นางภคอร กล่าวต่อว่า สถานการณ์ข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2553 ราคาข้าวยังมีปัจจัยกดดันของการแข็งค่าเงินบาท ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของข้าวโดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม แต่ความต้องการในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง เพราะฉะนั้นแนวโน้มราคาข้าวยังมีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวราคายังอยู่ในเกณฑ์สูงตลอดทั้งปี 2554

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูผลผลิตนาปรังในช่วงไตรมาส 1/2554 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการปลูกชดเชยข้าวนาปีที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ ต้องจับตามองผลผลิตข้าวเวียดนาม และการตัดสินใจของอินเดียจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวหรือไม่ หลังจากงดการส่งออกข้าว 2 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2552

"อินเดียยังไม่แน่ว่าจะกลับมาส่งออกหรือไม่ ที่เราต้องห่วงคือเวียดนาม ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 54 เวียดนามน่าจะส่งออกข้าวประมาณ 6.5 ล้านตันใกล้เคียงกับปีนี้"นางภคอร กล่าว

นอกจากนี้ แนะนำให้ติดตามความต้องการนำเข้าสินค้าข้าวประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ