"ชัยวุฒิ"คาดปี 54 ภาคอุตสาหกรรมไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้กังวลบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 16, 2010 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยปีนี้ยังขยายตัวได้ดี โดยจีดีพีอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 12-13% แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการแข็งค่าของค่าเงินบาท ส่วนทิศทางของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 54 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีอุตสาหกรรมจะขยายตัว 3.5-4.5% ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 6-8% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 64-66%

ในปี 53 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 15-16% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63-64% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะเอเชียและกลุ่มตลาดใหม่ ส่งผลให้การส่งออกของไทย 9 เดือน มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 105,816 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 34.1% สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัว เช่น มาตรการอัดฉีดจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังจะหมดลง เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการตั้งแต่ไตรมาส 4/53 ต่อเนื่อไปถึงปี 54 เนื่องจากคำสั่งซื้อเดิมได้หมดลง และผลประกอบการที่ลดลงจากรายได้ในรูปเงินบาทจะเป็นแรงกดดันให้ต้องมีการปรับตัวในด้านต้นทุนและราคา แต่ยังมีปัจจัยบวก คือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล

ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า ในปีนี้อุตสาหกรรมอาหาร มีการผลิตเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการอาหารของต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3% โดยเป็นผลจากระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยลบ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคที่เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า เช่น จีน เวียดนาม

สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปีนี้มีการผลิต เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มปี 54 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า5% แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตที่ลดลงกว่า 5% เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเงินบาทแข็งค่า ปัญหาน้ำท่วม และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่น ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบจากการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้ายที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมดได้มีการปรับราคาขึ้น 30-40 % เพราะผลผลิตในประเทศผู้ผลิต เช่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน แอฟริกา และอิหร่านลดลงจากภัยธรรมชาติ

ส่วนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปีนี้ขยายตัวได้ดีซึ่งเป็นไปตามทิศทางของธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง และจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น ส่วนแนวโน้มของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 54 คาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญยังคงเป็น การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการฟื้ นฟู ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายจากปัญหาน้ำท่วม

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 22.46% เนื่องจากความต้องการของตลาดอียู และตลาดใหม่ เช่น ออสเตรเลีย และอินเดีย แนวโน้มปี 2554 การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.88% แต่ยังมีปัจจัยลบ คือ ค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักในการจำหน่ายสินค้าส่งออก

อุตสาหกรรมรถยนต์ปีนี้มีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.6 ล้านคัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 60.10% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน ขยายตัว 27.53% และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 900,000 คัน ขยายตัว 68.05% โดยมีสาเหตุจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แนวโน้มปี 54 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.8 ล้านคัน ขยายตัว 12.50% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน ขยายตัว 14.29% แล ผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน ขยายตัว 11.11% เนื่องจากคาดว่าสภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคเอกชนยังมีความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพของค่าเงินบาท โดยไม่ต้องการให้ค่าเงินมีความผันผวน หรือขึ้นลงเร็วเกินไปจนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และต้องการให้อยู่ในระดับเดียวกันกับภูมิภาค โดยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอยู่ในระดับใด แต่ภาคเอกชนก็ได้มีการปรับตัวด้วยการมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว นอกจากนี้ยังยอมรับว่าเป็นห่วงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากกว่า ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปให้ความรู้ในการทำประกันความเสี่ยงให้เพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ