ครม.เห็นชอบมาตรการชดเชยชาวสวนยาง-ชาวประมงตามที่ก.เกษตรฯ เสนอ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 16, 2010 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการและกรอบวงเงินความช่วยเหลือกรณีเกษตรกรชาวสวนยางพารา, กรณีเสบียงสัตว์ และกรณีช่วยเหลือเรือและเครื่องอุปกรณ์การจับปลา

สำหรับความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จากข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ย. 53 คาดว่าจะเสียหายจะมีสยยางเสียหายจำนวน 12 จังหวัด พื้นที่ 212,074 ไร่ ประมาณการวงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 1,950,394,891 บาท

รัฐบาลจะใช้เงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ปีงบประมาณ 2554 รวมเป็นเงิน 863.72 ล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือตั้งแต่ปี 55 ขณะเดียวกันสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จะตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อใช้ในการสงเคราะห์ชาวสวนยาง วงเงิน 973.59 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 54-57

ทั้งนี้ รายละเอียดการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ ร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตยางพารา 7-22 ปี เฉลี่ยทั้งประเทศ (ไร่ละ 10,922 บาท) ในอัตราไร่ละ 6,007 บาท

พร้อมทั้ง ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ปลูกยางพาราใหม่ตามระเบียบ สนง. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยการให้การสงเคราะห์เพื่อปลูกแทน พ.ศ. 2551 และระเบียบ สนง. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางว่าด้วยการช่วยเหลือสวนประสบภัยธรรมชาติ พ.ศ. 2538 โดยอนุโลม คือ จ่ายเป็นรายปี เป็นเวลา 6 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,000 บาทต่อไร่

ขณะที่ การช่วยเหลือสวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เสียสภาพสวน ให้ สกย.รับผิดชอบในส่วนสวนสงเคราะห์ โดยใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ดำเนินการส่วนสวนนอกสงเคราะห์ รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่าย และให้ สกย. เป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 31,476,000 บาท

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ครม.วันนี้เห็นชอบให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกสวนยาง ทั้งนี้ จะมีการโอนเงินเข้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และเมื่อมีบัญชีรายชื่อเกษตรกรก็จะโอนเข้าบัญชี

นอกจากนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าขณะนี้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าประมาณ 11,000 ไร่ ซึ่งในที่ประชุมครม.วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตาม การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) รับไปดำเนินการพิจารณามาตรการในการดำเนินการต่อไป

กระทรวงเกษตรฯ จะมีการดูแลให้ปลูกสวนยางในพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะจากปัญหาที่พบมีการปลูกสวนยางในพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่นาข้าว

"หากใครปลูกยางในพื้นที่บุกรุก ก็จะไม่จ่ายเงินให้" รมว.เกษตรฯ กล่าว

ในส่วนการช่วยเหลือสำหรับชาวประมง รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ในกรณีของเรือที่มีความยาวไม่เกิน 10 เมตรจะใช้หลักเกณฑ์ช่วยเหลือคล้ายกับกรณีสึนามิ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เรือที่จมและสามารถกู้ขึ้นมาได้ ค่ากู้เรือจ่ายตามจริงไม่เกิน 12,200 บาท เรือชำรุด จ่ายให้ไม่เกิน 22,300 บาท ส่วนเรือจมและไม่สามารถซ่อมได้ จ่าย 80,400 บาท

สำหรับกรณีเรือยาวกว่า 10 เมตร ช่วยเหลือค่ากู้เรือ 34,000 บาท เรือชำรุด จ่ายค่าซ่อม 85,000 บาท และ กรณีที่ไม่สามารถซ่อมได้จ่าย 243,000 บาท

ในส่วนของอุปกรณ์การทำประมงจะจ่ายให้ไม่เกิน 10,000 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ