ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: วิกฤตหนี้ยุโรป ฉุดยูโรร่วงหนักเทียบดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 17, 2010 07:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 พ.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลไอร์แลนด์อาจต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.71% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3487 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ (15 พ.ย.) ที่ 1.3583 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินปอนด์ดิ่งลง 1.08% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5886 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6060 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 83.260 เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 83.130 เยน และทะยานขึ้น 1.10% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9954 ฟรังค์ จากระดับ 0.9846 ฟรังค์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.80% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9769 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ 0.9848 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7678 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7722 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่าไอร์แลนด์อาจต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป หลังจากรัฐบาลไอร์แลนด์อัดฉีดเงินจำนวน 3.43 หมื่นล้านยูโร (4.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าไปพยุงกิจการธนาคารแองโกล-ไอริชแบงค์ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณของไอร์แลนด์ในปี 2553 พุ่งขึ้นเป็น 32% ของตัวเลขจีดีพี จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 11%

ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจัดประชุมร่วมกันในวันอังคารและวันพุธนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยหลือไอร์แลนด์ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไอร์แลนด์ที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 8.25% เมื่อวานนี้ จากวันจันทร์ที่ระดับ 7.94% ได้จุดปะทุให้เกิดความวิตกกังวลในตลาดการเงินว่า ไอร์แลนด์อาจต้องเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหนี้

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ไอร์แลนด์ยังคงเป็นปัจจัยลบที่ฉุดค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างต่อเนื่อง แม้นายกรัฐมนตรีไบรอัน โคเวน ของไอร์แลนด์ เปิดเผยว่าไอร์แลนด์ไม่ได้เตรียมขอความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวนหลายพันล้านยูโรจากสหภาพยุโรปตามที่เป็นข่าวก็ตาม โดยโคเวนให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ RTE ของทางการไอร์แลนด์ว่า คำว่า "ขอความช่วยเหลือด้านการเงิน" เป็นคำพูดในเชิงลบที่ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น

อังกฤษและเยอรมนีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ โดย ZEW Center เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเยอรมนีในเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.8 จุด จากระดับ -7.2 ในเดือนต.ค. ซึ่งการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค.ขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.1% ในเดือนก.ย. ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธนาคารกลางอังกฤษกำหนดไว้ที่ 2%

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พื้นฐานร่วงลง 0.6% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2549 โดยดัชนี PPI เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการประเมินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค., ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเดือนต.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ