นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษี เตรียมเสนอต่อ รมว.คลังพิจารณาในเดือน ม.ค.54 โดยมีรูปแบบหลักใน 3 แนวทาง คือ 1 การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% และการลดภาษีเงินได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล) 2. การคงภาษี VAT ลดภาษีเงินได้ และการลดภาษีการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บางส่วน หรือทั้งหมด และ 3. การขึ้น VAT ลดภาษีเงินได้ และ ลดภาษี BOI บางส่วน หรือทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีในรายละเอียดของการปรับลด และขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวด้วยว่า จะมีการปรับขึ้นในลักษณะใด จะมีการคงฐานภาษี 0% ไว้หรือไม่ รวมถึงวงเงินลดหย่อนภาษีต่างๆ โดยรูปแบบที่เสนอ รมว.คลัง จะอยู่บนพื้นฐานที่การจัดเก็บภาษีเงินได้ใกล้เคียงของเดิม
"ขึ้นอยู่กับ รมว.คลังจะพิจารณา ซึ่งกรมจะเสนอทั้งรูปแบบและผล เพราะแต่ละรูปแบบจะมีประโยชน์ และผลที่ได้แตกต่างกัน...คิดว่า ม.ค.-ก.พ.54 น่าจะเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ" นายสาธิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม การปรับลด หรือขึ้น ภาษี VAT ทุก 1% จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ 60,000 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล บนฐานจัดเก็บภาษีที่ 30% จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้เฉลี่ย 5,000-6,000 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประเมินได้ยาก เนื่องจากเป็นการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า
อธิบดีกรมสรรพากร เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถือว่าเอื้ออำนวยให้มีการปรับโครงสร้างภาษีแล้ว เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ซึ่งที่ผ่านมาโครงสร้างภาษีไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมานานแล้วถึง 18 ปี โดยที่กระแสโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก